ยินดีต้อนรับสู่อาณาจักรแห่งความรู้คู่ความสำเร็จ

หากท่านสนใจพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ และเรื่องอื่นๆ สามารถเข้ามาเยี่ยมเยือนได้ตลอดเวลา นมัสเต....

วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เจ้าแม่ทุรคา (ปาง เหยียบหน้าอกพระศิวะ)

เจ้าแม่ทุรคา (ปาง เหยียบหน้าอกพระศิวะ)
            นะโม นะโม....ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้อ่านทั้งหลาย บทความนี้จะขอนำเสนอเกี่ยวกับตำนานเจ้าแม่กาลีเหยียบหน้าอกพระศิวะเจ้า เพื่อให้มองเห็นภาพจะกล่าวย้อนกลับไปกล่าวถึงเทพเจ้าทั้งสามองค์ก่อน ซึ่งททางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เรียกว่า “ตรีมูรติ” หมายถึง “โอม” คือศูนย์รวมอยู่แห่งเทพเจ้าทั้งสาม ประกอบไปด้วย พระพรหม ผู้สร้าง, พระวิษณุ ผู้รักษา, และพระศิวะ ผู้ทำลาย เทพเจ้าทั้ง ๓ นี้ถือว่าเป็นมหาเทพที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ในบรรดาเทพเหล่านี้ พระศิวะเจ้าจะเป็นที่เคารพในทางกำจัดความชั่วร้ายต่างๆ เพราะพระองค์สสามารถที่จะทำความพินาศให้แก่มนุษย์และสรรพสิ่งได้อย่างไม่เกรงใจใคร ถ้าท่านเคยเห็นรูปววาดของพระศิวะจะสะท้อนให้เห็นถึงความน่าเกรงขาม กายสีเขียว ตามีสามดวง มีงูเป็นสังวาล มีตรีสูญเป็นอาวุธประจำ มีกลองสองหน้าเป็นอุปกรณ์ส่งสัญญาณให้พวกอสูรหวาดหวั่น และที่สำคัญบนมวยผมของพระศิวะจะมีพระแม่คงคาพ่นน้ำลงใส่มวยผมในคราที่นางจะลงมาสู่โลกมนุษย์ ถ้าไม่มีมวยผมพระศิวะมารองรับในครั้งกระโน้น โลกของเราก็คงจะแตกเป็นเสี่ยงๆ เพราะโลกนี้ไม่สามารถรองรับอานุภาพของน้ำคงคาได้เลย
          เอาล่ะ! มาถึงตรงนี้เราก็ได้ทราบแล้วว่าหน้าที่หรือบทบาทของเทพเจ้าแต่ละองค์นั้นเป็นอย่างไรบ้าง เทพเจ้าของชาวอินเดียจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับมนุษย์อยู่หลายอย่าง เช่น การมีครอบครัว ชีวิตการเป็นอยู่ นอกจากนั้นยังมีอารมณ์ที่โหดร้ายบ้าง ดีบ้างผสมกันไป เทพแต่ละองค์ก็จะมีพระชายา และอานุภาพฤทธิ์เดชของพระนางเหล่านั้นจะมีพลานุภาพมากเหมือนๆ กับสามี พระพรหมมีพระนาง สุรัสสวดี เป็นพระชายา, พระนางลักษมี เป็นพระชายาของพระวิษณุ, และพระนางปารวตี เป็นพระชายาของพระศิวะเจ้า แต่ละนางนี้ก็มีอยู่หลายภาคเหมือนกัน บางครั้งจึงปรากฏเหมือนว่ามีหลายคน แต่ความจริงคือเป็นคนเดียวกัน แล้วแต่ว่าพระนางจะอวตารมาเป็นอะไรตอนไหนเท่านั้นเอง
          ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะพระนางปารวตี ซึ่งเป็นพระชายาของพระศิวะ พระนางมีอยู่หลายภาคที่เรารู้จัก เช่น พระแม่อุมาบ้าง(อารมณ์ดี) เจ้าแม่กาลีบ้าง(โกรธ) พระแม่ทุรคาบ้าง(ปราบอสูร) ก็ล้วนแต่หมายถึงคนเดียวกัน แต่ที่มีหลายปางเพราะอารมณ์ที่สื่อออกมาคนละอย่างกัน แล้วแต่สถานการณ์ว่าอย่างนั้นเถอะ
          ครั้งหนึ่ง พระพรหมสร้างสรรพสิ่งขึ้นมา พร้อมกันนี้ได้สร้างอสูรด้วย พวกอสูรมีนิสัยเกเรเป็นอันธพาล ก่อกวนไปทั่วพื้นโลกา ที่สำคัญพวกอสูรเหล่านี้ตายยากมาก ถ้าเลือดหยดลงสู่พื้นปฐพีก็จะเกิดเป็นอสูรอีกตัว หรือถ้าตกลงพื้น ๓ หยด ๔ หยด ๕ หยด...ฯลฯ ก็จะมีอสูรเพิ่มขึ้นตามนั้น แพร่ขยายพันธุ์เร็วมาก เมื่อพวกอสูรรบกวนและก่อความวุ่นวายให้แก่มนุษย์และเทวดา จึงต้องเป็นหน้าที่ของมหาเทพที่ต้องชำระมลทินเหล่านี้ให้หมดไป เมื่อเทพทั้งหลายประชุมกันพระศิวะเจ้าก็อาสาเพื่อไปทำศึกกับพวกอสูร เพราะถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงว่างั้นเถอะ ต่อแต่นั้นพระศิวะมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่ได้ออกลาดตระเวรปราบอสูร แต่เกิดเป็นเหตุอัศจรรย์เพราะว่ายิ่งฆ่าแต่จำนวนอสูรยิ่งเพิ่มเป็นทวี จากร้อยเป็นพัน จากพันเป็นหมื่น จากหมื่นเป็นแสน โอ้!พระศิวะเจ้าจะทำอย่างไรหนอ พอกลับมาสถานวิมานแห่งตนแล้วก็นั่งคิดถึงแผนการว่าจะทำอย่างไรต่อไปดีจึงจะจัดการพวกอสูรได้ ในตอนนั้นพระชายาพระองค์ก็อยู่ด้วย พระชายาใคร่ครวญอยู่ครู่หนึ่งจึงคิดว่าเราควรจะช่วยพระสวามีในการปราบอสูร จึงขอร้องพระศิวะให้ตนได้ช่วยปราบอสูรในครั้งนี้ แต่พระศิวะกลับปฏิเสธเพราะไม่ใช่หน้าที่ผู้หญิงนี่นา!!!
          พระนางปาวรวตี จึงแสดงอำนาจและพลังให้พระสวามีดูโดยอวตารแปลงกายเป็นเจ้าแม่ทุรคาในบัดนั้นและแสดงฤทธิ์โดยการทำให้พระศิวะล้มลงและขึ้นไปยืนเหยียบบนหน้าอก พระศิวะเจ้าเห็นพระชายามีพลังอย่างนี้จึงไม่กังขาและบรรเทาความสงสัยมอบหมายให้พระชายาไปปราบอสูรแทน พระนางพอออกสู้กับพวกอสูรก็เริ่มจับจุดได้ว่า อ๋อ! ถ้าเลือดอสูรหยดลงพื้นดินจะเกิดเป็นอสูรอีกตัว ดังนั้น เวลาที่นางตัดคออสูรแล้วจึงไม่ให้เลือดตกลงสู่พื้นแลบลิ้นอันยาวเหยียดมารองรับหยดเลือดอสูร เลือดก็ไม่สามารถตกถึงพื้นดิน จากนั้นอสูรก็ค่อยๆ ลดลงๆ และสามารถปราบได้ทั้งหมด เพราะอานุภาพและความฉลาดของนางนั่นเอง ลักษณะของรูปเคารพจะเป็นอย่างนี้ คือ กายสีดำ มีสิบแขน อาวุธครบมือ แลบลิ้นที่เต็มด้วยเลือดและที่คอประดับด้วยศีรษะของเหล่าอสูร เวลาที่จะบูชาพระแม่ทุรคาจะต้องเอาเลือดสดๆ สาดใส่ลิ้น แล้วก็ร่ายมนต์เพื่อเป็นการสรรเสริญและอ้อนวอนให้พระนางช่วยพิทักษ์ปราบสิ่งชั่วร้าย เพราะนางสามารถให้ทั้งคุณและโทษได้คล้ายๆ กับสามีคือพระศิวะเจ้า
          ในสมัยก่อนโน้น เขาจะเอาเด็กมาทำพิธีบูชายัญโดยการนำเด็กที่ถูกขโมยมาจากชาวบ้านที่เป็นคนวรรณะต่ำๆ แล้วเอาไปปิดตาเชือกผูกไว้นั่งคุกเข่าต่อหน้าเจ้าแม่กาลี ได้เวลาทำพธีจะเอามีดอันคมกริชปาดคอแล้วให้เลือดพุ่งใส่ลิ้นเจ้าแม่ ซึ่งต่อมาเขาก็ยกเลิกไปเพราะโหดร้ายเกินมนุษยธรรมทั้งหลายจะรับได้ จึงได้เปลี่ยนมาเป็นแพะแทน จึงเป็นที่มาของสุภาษิตไทยที่ว่า “แพะรับบาป” นำแพะมาแล้วก็ตัดคอให้เลือดพุ่งใส่ลิ้นเจ้าแม่ ผู้เขียนก็เคยเห็นพิธีอย่างนี้มาแล้ว จะบอกว่าน่าสยดสยองเลยแหละท่านเจ้าประคุณเอ๋ย!
          เราจะเห็นความเป็นปราชญ์ของชาวฮินดูที่สื่อให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ทราบว่า สตรีหรือผู้หญิงนี้ย่อมเป็นผู้มีอำนาจมาก (โดยเฉพาะกับสามี แฮ่ ๆ) เพราะต่อให้ผู้ชายเก่งขนาดไหน เจอมายายั่วยวนร้อยเล่มเกวียนเข้าไป ก็ต้องหลงไหลไปตามนั้น ในพระธรรมบทอันเป็นคัมภีร์หนึ่งในพระพุทธศาสนาก็ยังกล่าวไว้เลยวว่า “ไม่มีเสียงใดจะชนะใจบุรุษได้เท่าเสียงสตรี...อิตถี สัทโท.” ต่อให้ผู้ชายมีอำนาจมาดใหญ่ในทางสังคมขนาดไหน เป็นนายพลคุมกองทัพเป็นหมื่นๆ ได้ แต่กลับมาบ้านก็ต้องยอมให้เมียคุม แฮ่ๆๆ เป็นอย่างนั้นรึเปล่าล่ะคุณผู้อ่านทั้งหลาย!!
          ขนาดพระศิวะเจ้ามีพลานุภาพมากเพียงนั้นก็ยังต้องยอมสยบให้พระนางทุรคายืนเหยียบบนหน้าอกได้ จึงเป็นการสื่อให้เห็นอารมณ์ของสตรีทุกยุคทุกสมัยว่า อารมณ์ของสตรีจะเป็นอย่างนี้แหละ เช่น บางครั้งเป็นพรหม บางอารมณ์เป็นมาร บางกาลเป็นเทวดา บางเวลาเป็นยักษ์ บางพักเป็นคน บางหนเป็นมนุษย์
พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า “...อย่าประมาทในการครองเรือน” ก็คือการครองคู่ เพราะจิตของสตรีหวั่นไหวง่าย โดยเฉพาะเรื่องอารมณ์จะแปรปรวนบ่อย ทั้งสภาพแวดล้อมและระบบสรีระร่างกายเป็นองค์ประกอบ คุณพ่อบ้านจึงหมั่นเอาใจ เข้าใจ และไว้ใจ อย่าให้แม่บ้านหงุดหงิดเชียวล่ะ เดี๋ยวโดนเหยียบหน้าอกเหมือนพระศิวะนะ..จาบอกให้...! ! !
งั้นขอยุติแค่นี้ก่อนละกัน พูดมากเดี๋ยวผู้เขียนจะโดนเหยียบหน้าอกซะเอง อะจึ๋ย!!!!!
       
                      

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทำไมพระพุทธเจ้าไม่อุบัติคราวละ ๒ องค์


เหตุที่พระพุทธเจ้าไม่อุบัติพร้อมกัน
           ก็เพราะเหตุไร?  จึงไม่อุบัติไม่ก่อนไม่หลังกัน?
           เพราะไม่น่าอัศจรรย์.
           เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นอัจฉริยมนุษย์ สมดังที่ตรัสไว้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เป็นเอกเมื่ออุบัติขึ้นในโลกย่อมเป็นมนุษย์
อัศจรรย์อุบัติขึ้น บุคคลผู้เป็นเอกคือใคร? คือ พระตถาคต-
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.                                                
           ก็ถ้า  พระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ ๔ พระองค์ ๘ พระองค์  หรือ ๑๖
พระองค์เสด็จอุบัติขึ้นร่วมกัน  ไม่พึงเป็นผู้น่าอัศจรรย์ เพราะลาภสักการะแม้
ของเจดีย์ ๒ องค์ในวิหารเดียวกัน  ย่อมไม่เป็นของโอฬาร แม้ภิกษุทั้งหลาย
ก็ไม่เป็นผู้น่าอัศจรรย์ เพราะมีมาก แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายพึงเป็นอย่าง
นั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่เสด็จอุบัติ.
           อนึ่ง  ที่ไม่เสด็จอุบัติ (พร้อมกัน) เพราะพระธรรมเทศนาของพระ-
องค์  ไม่มีแปลกกัน ด้วยว่าพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงแสดงธรรมใด
ต่างโดยสติปัฏฐานเป็นต้น แม้พระพุทธเจ้าพระองค์อื่น เสด็จอุบัติแล้ว  
ก็พึงทรงแสดงธรรมนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น จึงไม่น่าอัศจรรย์ แต่เมื่อ
พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวทรงแสดงธรรม แม้เทศนาก็เป็นของอัศจรรย์
           อนึ่ง พระธรรมเทศนาจะเป็นของอัศจรรย์  เพราะไม่มีการขัดแย้ง
กัน. ก็เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นหลายพระองค์ สาวกจะพึงวิวาทกันว่า
พระพุทธเจ้าของพวกเราน่าเลื่อมใส  พระพุทธเจ้าของพวกเราพระสุรเสียง
ไพเราะมีบุญ เหมือนพวกศิษย์ของอาจารย์หลายคน แม้เพราะเหตุนั้นจึง 
ไม้เสด็จอุบัติขึ้นอย่างนั้น อีกอย่างหนึ่ง เหตุการณ์นี้  พระนาคเสนถูกพระเจ้า
มิลินท์ตรัสถาม ได้ขยายความพิสดารไว้แล้ว สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า:-
           พระยามิลินท์  ตรัสถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้านาคเสน ในเรื่อง
พระพุทธเจ้าหลายพระองค์นั้น แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส คือ ข้อที่พระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ เสด็จอุบัติ ไม่ก่อนไม่หลังกันใน
โลกธาตุเดียวกันนั้น มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ท่านนาคเสน อนึ่ง เมื่อจะ
ทรงแสดงธรรม พระตถาคตแม้ทุกพระองค์ก็จะทรงแสดงโพธิปักขิยธรรม ๓๗
ประการ เมื่อจะตรัสก็จะตรัสอริยสัจ ๔ เมื่อจะให้ศึกษาก็จะทรงให้ศึกษาใน
สิกขา ๓ และเมื่อจะทรงสั่งสอน ก็จะทรงสั่งสอนการปฏิบัติเพื่อความไม่
ประมาท ข้าแต่พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าว่า พระพุทธเจ้าแม้ทุกพระองค์
มีอุทเทสอย่างเดียวกัน มีกถาอย่างเดียวกัน มีสิกขาบทอย่างเดียวกัน    
มีอนุสนธิอย่างเดียวกัน เพราะเหตุไร พระตถาคต ๒ พระองค์ จึงไม่เสด็จ
อุบัติในคราวเดียวกัน เพราะการเสด็จอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์
เดียว โลกนี้ก็จะเกิดแสงสว่าง ถ้าจะพึงมีพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒ โลกนี้ก็จะ
พึงมีแสงสว่างยิ่งกว่าประมาณ ด้วยพระรัศมีของพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์
และพระตถาคต ๒ พระองค์ เมื่อจะตรัสสอน ก็จะตรัสสอนได้ง่าย เมื่อจะ
ทรงอนุสาสน์ ก็ทรงอนุสาสน์ได้ง่าย ขอพระคุณเจ้าจงชี้แจงเหตุในข้อนั้น  
ให้โยมฟังให้หายสงสัยด้วยเถิด.                                                
           พระนาคเสน  ถวายวิสัชนาว่า มหาบพิตร  หมื่นโลกธาตุนี้  รอง
รับพระพุทธเจ้าองค์เดียว รองรับพระคุณของพระตถาคตพระองค์เดียวเท่านั้น
ถ้าพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒ จะพึงอุบัติขึ้น โลกธาตุนี้จะพึงรองรับไม่ได้ จะพึง  
หวั่นไหวน้อมโน้ม  พลิกกระจาย แตกทำลายไปเข้าถึงการตั้งอยู่ไม่ได้   มหา-
บพิตร  เรือบันทุกคนได้คนเดียว  เมื่อคนผู้เดียวขึ้น  เรือนั้นพึงใช้การได้ ถ้า
คนที่  ๒ ลงมา เขามี อายุ วรรณ วัย ขนาดผอม อ้วน  มีอวัยวะน้อย
ใหญ่ทุกอย่าง เหมือนคนแรกนั้น คนผู้นั้นพึงขึ้นเรือลำนั้น  มหาบพิตร เรือ
ลำนั้นจะรับคนแม้ทั้งสองไว้ได้หรือหนอ ?
           รับไม่ได้ดอกพระคุณเจ้า  เรือลำนั้นจะต้องโคลง น้อมโน้ม คว่ำ
กระจาย แตกทำลายไป เข้าถึงการลอยลำอยู่ไม่ได้  พึงจมน้ำไป ฉันใดฉันนั้น
เหมือนกันแล มหาบพิตร หมื่นโลกธาตุนี้รองรับพระพุทธเจ้าได้พระองค์
เดียว รองรับพระคุณของพระตถาคตได้พระองค์เดียวเท่านั้น ถ้าว่าพระ-
พุทธเจ้าองค์ที่ ๒ พึงอุบัติขึ้น หมื่นโลกธาตุจะพึงรองรับไว้ไม่ได้พึงหวั่นไหว
น้อมโน้ม พลิกกระจาย แตก  ทำลายไป เข้าถึงความตั้งอยู่ไม่ได้   อีกอย่าง 
หนึ่ง  มหาบพิตร เหมือนอย่างว่า คนบริโภคอาหารเต็มที่ จนถึงคอพอแก่
ความต้องการ  ต่อแต่นั้น เขาจะอิ่ม เต็มที่ โงกง่วงตลอดเวลา  เป็นเหมือน
ท่อนไม้ที่แข็งทื่อ เขาพึงบริโภคอาหารมีประมาณเท่านั้นอีกครั้ง มหาบพิตร
คนผู้นั้นจะพึงมีความสุขหรือหนอ ?
           ไม่มีเลย  พระคุณเจ้า เขาบริโภคอีกครั้งเดียว  ก็จะต้องตาย  ฉันนั้น
เหมือนกันแล  มหาบพิตร หมื่นโลกธาตุนี้รองรับพระพุทธเจ้า พระองค์
เดียว ฯลฯ  พึงเข้าถึงการตั้งอยู่ไม่ได้.                       
           พระคุณเจ้านาคเสน   ด้วยการแบกธรรมอันยิ่งไว้ แผ่นดินจะไหว
ได้อย่างไร ?
           ขอถวายพระพร มหาบพิตร ในข้อนี้  (ขออุปมาด้วย)  เกวียน ๒ เล่ม
(บรรทุก) เต็มด้วยรัตนะจนถึงเสมอปาก จะเอารัตนะจากเกวียนเล่มหนึ่งไป
เกลี่ยใส่ในเกวียนอีกเล่มหนึ่ง มหาบพิตร เกวียนเล่มนั้นจะพึงรองรับรัตนะ 
ของเกวียนทั้งสองเล่มได้แลหรือ  ?
           ไม่ได้เลย  พระคุณเจ้า แม้ดุมของเกวียนเล่มนั้นก็จะคลอน  แม้กำก็
จะแตก  แม้กงก็จะหลุดตกไป แม้เพลาก็จะหัก.                     
           ขอถวายพระพร มหาบพิตร เกวียนหักเพราะการ (ที่บรรทุก) รัตนะ
เกินไปใช่หรือไม่  ?                                                             
           ถูกแล้วพระคุณเจ้า
           ขอถวายพระพร  มหาบพิตร  (ข้อนี้ฉันใด) แผ่นดินก็ฉันนั้นเหมือน
กัน   หวั่นไหวเพราะภาระคือธรรมอันยิ่ง.
           ขอถวายพระพร  มหาบพิตร  อีกอย่างหนึ่ง  ขอพระองค์จงทรงสดับ
เหตุการณ์นี้  อันเป็นที่รวมการแสดงพระกำลังของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
(และ)   เหตุการณ์แม้อย่างอื่นที่น่าสนใจในข้อนั้น ที่เป็นเหตุให้พระสัมมา-
สัมพุทธเจ้า  ๒ องค์ไม่อุบัติคราวเดียวกัน  มหาบพิตร  ถ้าพระสัมมาสัม-
พุทธเจ้า ๒ พระองค์จะพึงอุบัติในคราวเดียวกันไซร้  ความวิวาทกันจะพึงเกิด
แก่บริษัท สาวกจะเกิดเป็น ๒ ฝ่ายว่า พระพุทธเจ้าของพวกท่าน  พระพุทธ-
เจ้าของพวกเรา ขอพระองค์จงสดับเหตุการณ์ข้อแรกนี้  ที่เป็นเหตุไม่ให้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์อุบัติขึ้นในคราวเดียวกัน  ขอพระองค์
จงสดับเหตุการณ์แม้ข้ออื่นยิ่งไปกว่านี้ ที่เป็นเหตุไม่ให้พระสัมมาสัม-
พุทธเจ้า  ๒ พระองค์อุบัติขึ้นในคราวเดียวกัน ขอถวายพระพร  มหาบพิตร
ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ๒ พระองค์ พึงอุบัติขึ้นในคราวเดียวกันไซร้
คำที่ว่า  พระพุทธเจ้าผู้เลิศ  ก็จะพึงผิดไป  คำที่ว่า พระพุทธเจ้าผู้เจริญที่
สุด   ที่ว่าพระพุทธเจ้าผู้วิเศษสุด ที่ว่าพระพุทธเจ้าผู้สูงสุด ที่ว่าพระ-
พุทธเจ้าผู้ประเสริฐ   ที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่มีผู้เสมอ ที่ว่าพระพุทธเจ้าหาผู้
เสมอเหมือนมิได้ ที่ว่าพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีผู้เปรียบเทียบ ที่ว่าพระพุทธ-  
เจ้าไม่มีผู้เทียมทัน ที่ว่าพระพุทธเจ้าหาผู้เปรียบมิได้ พึงเป็นคำผิดไป ขอ
ถวายพระพร  มหาบพิตร ขอพระองค์จงรับเหตุการณ์แม้นี้แล  โดยความหมาย
อันเป็นเหตุไม่ให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ อุบัติขึ้นในคราวเดียว
กัน อีกอย่างหนึ่ง ขอถวายพระพร มหาบพิตร ข้อที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์เดียวเท่านั้น อุบัติขึ้นในโลกนี้  เป็นสภาวปกติของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เพราะเหตุไร ? เพราะพระคุณของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายเป็น
เหตุการณ์ใหญ่หลวง ขอถวายพระพร มหาบพิตร สิ่งที่เป็นของใหญ่แม้
อย่างอื่น ย่อมมีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น แผ่นดินใหญ่มีแผ่นดินเดียวเท่านั้น
สาครใหญ่มีสาครเดียวเท่านั้น ขุนเขาสิเนรุใหญ่ประเสริฐสุดก็มีลูกเดียวเท่านั้น
อากาศใหญ่  (กว้าง) ก็มีแห่งเดียวเท่านั้น  ท้าวสักกะใหญ่ก็มีองค์เดียว
เท่านั้น พระพรหมใหญ่ก็มีองค์เดียวเท่านั้น พระตถาคตอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ก็มีพระองค์เดียวเท่านั้น  ท่านเหล่านั้นอุบัติขึ้นในที่ใด
คนเหล่าอื่นย่อมไม่มีโอกาสในที่นั้น  เพราะเหตุนั้น  พระตถาคตอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เดียวเท่านั้นอุบัติขึ้นในโลก พระคุณเจ้านาคเสน
ปัญหาพร้อมทั้งเหตุการณ์  (ที่นำมา) เปรียบเทียบ ท่านกล่าวได้ดีมาก.
   
เหตุที่พระเจ้าจักรพรรดิไม่อุบัติร่วมกัน
            บทว่า เอกิสฺสา โลกธาตุยา ได้แก่ ในจักรวาลเดียว ก็หมื่น
จักรวาลแม้จะถือเอาด้วยบทนี้ในตอนต้น  ก็ควรที่จะกำหนดเอาจักรวาลเดียว
เท่านั้น  เพราะว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายเมื่อจะอุบัติขึ้นย่อมอุบัติขึ้นในจักรวาล
นี้เท่านั้น  ก็เมื่อห้ามสถานที่ที่เสด็จอุบัติย่อมเป็นอันห้ามเด็ดขาดว่าพระพุทธเจ้า
ทั้งหลาย ไม่เสด็จอุบัติในจักรวาลอื่นนอกจากจักรวาลนี้.







วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประวัติวัดมิ่งเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

(เรียบเรียงโดย พระมหาประภาส ปริชาโน)
วัดมิ่งเมือง (วัดกลางมิ่งเมือง) แต่เดิมสังกัดคณะมหานิกาย จากประวัติศาสตร์เมืองเสลภูมิได้กล่าวถึงวัดมิ่งเมืองไว้ว่า เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดกลางมิ่งเมือง สังกัดการปกครองคณะสงฆ์มหานิกาย ไม่มีหลักฐานในการก่อสร้างที่ชัดเจน แต่สันนิฐานว่าได้สร้างขึ้นพร้อมกับการตั้งเมืองเสลภูมิ หรือหลังจากการสร้างเมืองเสลภูมินิคมไม่นานนัก 
ที่ได้ชื่อว่าวัดกลาง เพราะได้ตั้งอยู่กลางเมืองเสลภูมินิคม เจ้าอาวาสรูปแรก คือ าคูพระลูกแก้ว (นามสมณศักดิ์ที่ได้รับจากพิธีเถราภิเษกตามธรรมเนียมชาวล้านช้าง) คณะสงฆ์เมืองเสลภูมินิคมแบ่งการปกครองออกเป็นอำเภอเหนือ อำเภอใต้ พระครูพิทักษ์อมรพันธ์ (ญาครูพระลูกแก้ว) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงใต้ พระครูอุตตรานุรักษ์ (ญาครูพระหลักคำ) วัดศรีทองนพคุณ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเหนือ ในขณะนั้นพระครูพิทักษ์อมรพันธ์ (ญาครูพระลูกแก้ว) มรณภาพลง พระครูอุตตรานุรักษ์ (อินทร์) ได้ผนวกอำเภอเหนือและใต้เข้าด้วยกันในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ หลังจากนั้น พระครูอุตตรานุรักษ์ (อินทร์) ได้ลาสิกขาทำให้ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอว่างลง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้เปลี่ยนชื่อวัดกลาง มาเป็นวัดมิ่งเมือง ซึ่งมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส อดีตปฐมสังฆนายกไทย) เมื่อดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา สมณศักดิ์ที่ พระพรหมมุนี และเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร มีบัญชาให้พระครูวิโรจน์ผดุงศาสน์ (บุญเรือง ปภสฺสโร) เจ้าอาวาสวัดสุปัญญารามและรักษาการเจ้าคณะแขวงเสลภูมิ มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกลาง และเจ้าคณะแขวงเสลภูมิ พร้อมกันนี้ได้ประทานนามวัดใหม่ว่า วัดมิ่งเมือง  เปลี่ยนสังกัดการปกครองคณะมหานิกาย (ม) มาเป็นคณะธรรมยุตนิกาย (ธ)
ซึ่งในยุคนี้ได้มีการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องการศึกษา จัดแผนผังวัดใหม่ให้เป็นระบบระเบียบ ตั้งเป็นสำนักเรียนวัดมิ่งเมือง และได้รับคัดเลือกเป็นสำนักเรียนชั้นโท มีนักธรรมและบาลี  มีการเรียนการสอนและสอบเป็นมหาเปรียญธรรมกันได้เป็นจำนวนมาก  ส่วนทางโลกก็รับอนุเคราะห์ลูกชาวบ้านมาพักอาศัยเรียนปริยัติธรรมสามัญศึกษา อบรมสั่งสอนให้มีระเบียบวินัย ได้ประโยชน์แก่สังคมอย่างมาก วัดมิ่งเมืองได้ขยายเนื้อที่วัดออกไปมากกว่าเดิม 
นอกจากนี้ พระครูวิโรจน์ผดุงศาสน์ (บุญเรือง ปภสฺสโร) ได้รับสมณศักดิ์และดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ดังนี้
พระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษที่ พระครูวิโรจน์ผดุงศาสน์ เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธ)
เป็นเจ้าคุณชั้นสามัญที่ พระประภัสสรมุนี
เป็นเจ้าคุณชั้นราชที่ พระราชสิทธาจารย์ ตามลำดับมา 
พระราชสิทธาจารย์ (บุญเรือง ปภสฺสโร) มีผู้คนเคารพนับถือจำนวนมาก ท่านได้ปรับปรุงส่งเสริม ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้านเกี่ยวกับพระศาสนา เช่น ประเพณีถวายเทียนพรรษาแต่โบราณในวันเข้าพรรษา คือ วันเพ็ญเดือนแปด เป็นต้น 
ชาวบ้านในเขตอำเภอเสลภูมิแต่ละครัวเรือนทำธูปเทียนไปถวายวัดในหมู่บ้าน ซึ่งในสมัยนั้นมีท่านขุนปราณีจีนธานี (ชะลูด  สิงห์ประเสริฐ) เป็นนายอำเภอเสลภูมิ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๔๘๘ และได้จัดให้มีการรวมกลุ่มเป็นหมู่ (เป็นคุ้ม) เข้าขบวนแห่เพื่อให้เกิดความสามัคคี ทางอำเภอเสลภูมิได้จัดให้มีประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาเป็นประจำทุกปี จนถึงปัจจุบันนี้ 
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ พระราชสิทธาจารย์ (บุญเรือง ปภสฺสโร) ได้มรณภาพลง คณะทายกทายิกาได้กราบอาราธนา พระครูวินัยรสสุนทร (รส  ปญฺญาพโล) เจ้าอาวาสวัดสุปัญญาราม ในขณะนั้น และเจ้าคณะอำเภอเสลภูมิอาจสามารถ (ธรรมยุต) มาเป็นเจ้าอาวาสแทน ซึ่งท่านเป็นสหธรรมิก ของท่านเจ้าคุณพระราชสิทธาจารย์ (บุญเรือง ปภสฺสโร) เป็นคู่นาคกันในวันอุปสมบท พระครูวินัยรสสุนทร (รส ปญฺญาพโล) ได้จัดให้มีการแสดงธรรมแก่ประชาชน สืบทอดต่อมา และมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเพิ่มเติมให้เจริญก้าวหน้าขึ้น การก่อสร้างปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกุฏิ วิหาร สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม และสร้างกำแพงรอบวัด ด้านการศึกษาอบรมจัดตั้งขึ้นให้ชื่อว่าศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมวัดมิ่งเมือง
ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ วัดมิ่งเมืองได้รับการคัดเลือกให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ของกรมการศาสนา
ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ วัดมิ่งเมืองได้รับการคัดเลือกให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ของกรมการศาสนา เป็นปีที่ ๒
ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ พระครูวินัยรสสุนทร เริ่มรวบรวมและจัดตั้งเป็นทุนนิธิขึ้น เพื่อจัดตั้งเป็นมูลนิธิ                   ต่อไป
ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม
ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ พระครูวินัยรสสุนทร ได้มรณภาพ  
พระมหาสายัณห์ ปญฺญาวชิโร  ซึ่งทางสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์ ส่งมาปฏิบัติศาสนกิจที่วัดมิ่งเมือง ทั้งยังเป็นลูกศิษย์วัดมิ่งเมืองที่เคยอุปัฏฐากพระครูวินัยรสสุนทร มาดำรงตำแหน่ง เลขานุการศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม วัดมิ่งเมือง ด้วยเป็นพระหนุ่มที่รุ่นใหม่ไฟแรงและได้ดำเนินรอยตามบุรพาจารย์ในด้านการพัฒนา จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าอาวาสวัดมิ่งเมือง เจ้าคณะอำเภอเสลภูมิ (ธ) และได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก ในพระราชทินนามที่ พระครูเอกุตรสตาธิคุณ และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นตามลำดับ
จนเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธรรมยุต) ในพระราชทินนามที่ พระสุทธิสารโสภณ และเลื่อนมาเป็นเจ้าคุณชั้นราชที่ พระราชปริยัติวิมล ท่านได้สานต่อเจตนารมณ์ของอดีตเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมืองทั้งสองรูปด้วยดีตลอดมา
ปี พ.ศ.๒๕๓๑ ได้รับการคัดเลือกเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น ของประเทศ
ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ จัดตั้งเป็น มูลนิธิปัสสรปัญญาพล เพื่อเอาดอกผลมาบำรุง ส่งเสริมการศึกษ
การเผยแผ่ การสาธารณูปการ การปฏิบัติธรรม การส่งเสริมอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้
ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ จัดตั้งเป็น ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดมิ่งเมือง และได้รับคัดเลือกเป็นศูนย์ศึกษาที่มีผลงานดีเด่น ระดับประเทศในปีการศึกษา ๒๕๓๙ ในขณะเดียวกัน พระราชปริยัติวิมล (สายัณห์ ปญฺญาวชิโร) ได้พัฒนาวัดให้เป็นไปตามกระแสของสังคมในยุคปัจจุบัน
ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ จัดตั้งเป็นโรงเรียนวิโรจน์ผดุงศาสน์ พระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและขยายเป็นระดับมัยมศึกษาตอนปลายในปี พ.ศ.๒๕๓๗ สายวิทยาศาสตร์
วัดมิ่งเมือง ได้มีการยึดเอาหลักการพัฒนาทั้งในด้านศาสนวัตถุและศาสนบุคคล เป็นสำคัญ  เริ่มต้นจากเจ้าอาวาสรูปแรกซึ่งเป็นการปกครองจากคณะมหานิกาย จนมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นคณะธรรมยุต มีลำดับเจ้าอาวาสดังนี้
๑. พระครูพิทักษ์อมรพันธ์ (ญาครูพระลูกแก้ว)
๒. พระครูอุตตรานุรักษ์ (อินทร์)
๓. พระราชสิทธาจารย์ (บุญเรือง ปภสฺสโร)
๔. พระครูวินัยรสสุนทร (รส  ปญฺญาพโล)
๕. พระ
ราชปริยัติวิมล (สายัณห์ ปญฺญาวชิโร ป.ธ.๔,ศน.บ.,M.A.,Ph.D.)
ปัจจุบันวัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่เลขที่ ๑๔๘ หมู่ที่ ๓ ตำบลกลาง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด รหัสไปรษณีย์ ๔๕๑๒๐ 
จากอดีตถึงปัจจุบันวัดมิ่งเมืองมีบทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้ว่า วัดมิ่งเมือง เป็นวัดที่มีพระเถระผู้ใหญ่เข้ามาตรวจเยี่ยมอยู่เสมอมิได้ขาด นับตั้งแต่
-สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) สมเด็จพระสังฆรา (สมัยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา) วัดบรมนิวาส  กรุงเทพมหานคร 
-สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ประธานเจ้าคณะภาค ๘,,๑๐ และ ๑๑ วัดนรนาถสุนทริกราม 
-สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร
-สมเด็จพระญาณวโรดม วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร
-พระพรหมมุนี (แม่กองธรรมสนามหลวง) วัดบวรนิเวศน์วิหาร เป็นต้น
ทางด้านประวัติพระพุทธศาสนาแพร่เข้ามาสู่อำเภอเสลภูมิก่อน ปี พ.ศ. ๒๑๙๘ แสดงให้เห็นถึงความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี นับแต่พระพุทธศาสนายุค ศรีสันตนาคนหุต แพร่เข้าสู่ภาคอีสานของประเทศไทย  ทำให้พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับมา จนกระทั่งคณะธรรมยุตนิกายได้แพร่ขยายเข้ามาสู่ภาคอีสาน และแพร่เข้ามาในอำเภอเสลภูมิมีวัดมิ่งเมืองเป็นต้น จึงทำให้วัดมิ่งเมืองได้รับการพัฒนาให้เจริญเป็นลำดับ และเป็นศูนย์รวมของการเผยแผ่ธรรม ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าชาวอำเภอเสลภูมิส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมก็ตาม แต่ศรัทธาของชาวอำเภอเสลภูมิที่มีต่อพระพุทธศาสนานั้นมีเป็นอย่างมาก และทำให้อำเภอเสลภูมิ เจริญรุ่งเรือง ชาวอำเภอเองมีความสมัครสมานสามัคคีกันเป็นอย่างดี
ประวัติเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมืองรูปปัจจุบัน โดยสังเขป
พระราชปริยัติวิมล (สายัณห์ ปญฺญาวชิโร)
การศึกษา
-เปรียญธรรม ๔ ประโยค
-ปริญญาตรี ศาสนศาสตร์บัณฑิต (ศน.บ.) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศน์วิหาร กรุงเทพฯ
-ปริญญาโท M.A.(Master of art) มหาวิทยาลัยเดลี(DU) กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย
-ปริญญาเอก Ph.D.(Doctor of Philosophy) มหาวิทยาลัยมารัทวาดาร์ เมืองออรังคบาด รัฐมหารัชตระ ประเทศอินเดีย
การปกครอง
        -ผู้จัดการโรงเรียนวิโรจน์ผดุงศาสน์ วัดมิ่งเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
          -ผู้จัดการศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมวัดมิ่งเมือง
          -ผู้จัดการโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดมิ่งเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด
-เป็นพระอุปัชฌาย์
          -เจ้าอาวาสวัดมิ่งเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
          -เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด(ธ)
          -รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตร้อยเอ็ด
ส่งเสริมการศึกษา
        นอกจากพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ จะเป็นนักพัฒนาและนักปกครองแล้วยังมองเห็นการไกล ไม่เพียงแต่จะสร้างศาสนสถาน เช่น โบสถ์ วิหารลานเจดีย์เท่านั้น ยังส่งเสริมการศึกษาแก่พระภิกษุ-สามเณรที่เป็นสัทธิวิหาริกของท่านอย่างทั่วถึง ทั้งในและต่างประเทศทุกระดับชั้น ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงตอนปลาย(สายวิทย์ฯ) ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก และพระเดชพระคุณจะสอนลูกศิษย์เสมอว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนก็คือการศึกษา จากเด็กบ้านนอกคอกนาได้อาศัยร่มเงาผ้ากาสาวพัสตร์ถูกฝึกฝนอย่างดี ทั้งเรื่องระเบียบและวินัยตามครรลองแห่งพระพุทธศาสนา จะเป็นบรรทัดฐานให้มีโอกาสได้สร้างสรรทั้งความรู้และความสามารถควบคู่กันไป
นอกจากนั้นท่านยังส่งเสริมงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในและต่างประเทศ โดยส่งพระลูกวัดที่มีความสามารถดี เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตเพื่อเดินทางไปช่วยงานพระศาสนายังต่างแดน ที่สำคัญตอนนี้ท่านได้ส่งลูกศิษย์ไปศึกษายังประเทศอินเดียจำนวน ๖ รูปด้วยกัน ประกอบไปด้วย
          ๑.พระมหาประภาส ปริชาโน(แก้วเกตุพงษ์) ป.ธ.๔,ศน.บ.คณะปรัชญาและศาสนา(เกียรตินิยมอันดับ๑), M.A.(Indian Philosophy and Religion) (First class) กำลังศึกษาปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยบาณารัสฮินดู(B.H.U.) รัฐอุตตรประเทศ เมืองพาราณสี อินเดีย
          ๒.พระมหาศุภฤกษ์ ปญฺญาวโร (ภูกาบ) ป.ธ.๔,ศน.บ.,M.A.(I.P.R.) กำลังรอสมัครปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยบาณารัสฮินดู รัฐอุตตรประเทศ เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย
          ๓.พระอภิชาติ อภิญาโณ (แก้วเกตุพงษ์) น.ธ.เอก,ศน.บ.(ภาษาศาสตร์), M.A.(Pali & Buddhist Studies), กำลังศึกษาระดับอนุปริญญาโท (Diploma in Philosophy) มหาวิทยาลัยเมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ และกำลังสอบเข้าเรียนระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยนาลันทา รัฐพิหาร อินเดีย
          ๔.พระมหาบุรินทร์ ปวรินฺโท ป.ธ.๖,ศน.บ.,M.A.(Linguistic) ปัจจุบันศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย ปูเณ รัฐมหารัชตระ อินเดีย
          ๕.พระมหาประวิทย์ ทินวโร(ธงชัย) ป.ธ.๔,ศน.บ.,M.A.(Linguistic), กำลังศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยบาณารัสฮินดู เมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย
          ๖.พระสุริยะ ชวนปญฺโญ(ศรีสุระ) ป.ธ.๑-๒,ศน.บ.,กำลังศึกษาปริญญาโท(M.A.)คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบาณารัสฮินดู เมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ อินเดีย (แต่มีปัญหาด้านสุขภาพจึงต้องเดินทางกลับก่อนสำเร็จการศึกษา)
พระธรรมทูตที่พระเดชพระคุณส่งไปยังต่างประเทศ ประกอบไปด้วย
          ๑.พระมหาอุบล ติกฺขปญฺโญ(อาทิตย์ตั้ง) ป.ธ.๔, ศน.บ.,ศน.ม.
          ๒.พระมหาสุริยา จนฺทวณฺโณ(ดอกรัง) ป.ธ.๔,ศน.บ. (ปฏิบัติศาสนกิจทวีปยุโรป)
          ๓.พระมหายอดดอย ปญฺญาภรโณ (ดีดอนดู่) ป.ธ.๔,ศน.บ. (ปฏิบัติศาสนกิจประเทศยุโรป)
          ๔.พระมหาทะบุตร อภิปุญฺโญ ป.ธ.๓,ศน.บ. (ปฏิบัติศาสนกิจประเทศสหรัฐอเมริกา)
          ส่วนหลวงพ่อเจ้าคุณ พระราชปริยัติวิมล (สายัณห์ ปญฺญาวชิโร) ก็ยังได้เดินทางไปประกาศพระศาสนายังต่างประเทศบ่อยๆ เพื่อให้กำลังใจแก่พระธรรมทูตและศึกษาดูงานอีกด้วย อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐอินเดีย ประเทศออสเตเรีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศนิวซีแลน ประเทศสวิซเซอร์แลน ประเทศเยอรมัน เป็นต้น