ยินดีต้อนรับสู่อาณาจักรแห่งความรู้คู่ความสำเร็จ

หากท่านสนใจพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ และเรื่องอื่นๆ สามารถเข้ามาเยี่ยมเยือนได้ตลอดเวลา นมัสเต....

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประวัติวัดมิ่งเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

(เรียบเรียงโดย พระมหาประภาส ปริชาโน)
วัดมิ่งเมือง (วัดกลางมิ่งเมือง) แต่เดิมสังกัดคณะมหานิกาย จากประวัติศาสตร์เมืองเสลภูมิได้กล่าวถึงวัดมิ่งเมืองไว้ว่า เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดกลางมิ่งเมือง สังกัดการปกครองคณะสงฆ์มหานิกาย ไม่มีหลักฐานในการก่อสร้างที่ชัดเจน แต่สันนิฐานว่าได้สร้างขึ้นพร้อมกับการตั้งเมืองเสลภูมิ หรือหลังจากการสร้างเมืองเสลภูมินิคมไม่นานนัก 
ที่ได้ชื่อว่าวัดกลาง เพราะได้ตั้งอยู่กลางเมืองเสลภูมินิคม เจ้าอาวาสรูปแรก คือ าคูพระลูกแก้ว (นามสมณศักดิ์ที่ได้รับจากพิธีเถราภิเษกตามธรรมเนียมชาวล้านช้าง) คณะสงฆ์เมืองเสลภูมินิคมแบ่งการปกครองออกเป็นอำเภอเหนือ อำเภอใต้ พระครูพิทักษ์อมรพันธ์ (ญาครูพระลูกแก้ว) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงใต้ พระครูอุตตรานุรักษ์ (ญาครูพระหลักคำ) วัดศรีทองนพคุณ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเหนือ ในขณะนั้นพระครูพิทักษ์อมรพันธ์ (ญาครูพระลูกแก้ว) มรณภาพลง พระครูอุตตรานุรักษ์ (อินทร์) ได้ผนวกอำเภอเหนือและใต้เข้าด้วยกันในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ หลังจากนั้น พระครูอุตตรานุรักษ์ (อินทร์) ได้ลาสิกขาทำให้ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอว่างลง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้เปลี่ยนชื่อวัดกลาง มาเป็นวัดมิ่งเมือง ซึ่งมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส อดีตปฐมสังฆนายกไทย) เมื่อดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา สมณศักดิ์ที่ พระพรหมมุนี และเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร มีบัญชาให้พระครูวิโรจน์ผดุงศาสน์ (บุญเรือง ปภสฺสโร) เจ้าอาวาสวัดสุปัญญารามและรักษาการเจ้าคณะแขวงเสลภูมิ มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกลาง และเจ้าคณะแขวงเสลภูมิ พร้อมกันนี้ได้ประทานนามวัดใหม่ว่า วัดมิ่งเมือง  เปลี่ยนสังกัดการปกครองคณะมหานิกาย (ม) มาเป็นคณะธรรมยุตนิกาย (ธ)
ซึ่งในยุคนี้ได้มีการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องการศึกษา จัดแผนผังวัดใหม่ให้เป็นระบบระเบียบ ตั้งเป็นสำนักเรียนวัดมิ่งเมือง และได้รับคัดเลือกเป็นสำนักเรียนชั้นโท มีนักธรรมและบาลี  มีการเรียนการสอนและสอบเป็นมหาเปรียญธรรมกันได้เป็นจำนวนมาก  ส่วนทางโลกก็รับอนุเคราะห์ลูกชาวบ้านมาพักอาศัยเรียนปริยัติธรรมสามัญศึกษา อบรมสั่งสอนให้มีระเบียบวินัย ได้ประโยชน์แก่สังคมอย่างมาก วัดมิ่งเมืองได้ขยายเนื้อที่วัดออกไปมากกว่าเดิม 
นอกจากนี้ พระครูวิโรจน์ผดุงศาสน์ (บุญเรือง ปภสฺสโร) ได้รับสมณศักดิ์และดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ดังนี้
พระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษที่ พระครูวิโรจน์ผดุงศาสน์ เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธ)
เป็นเจ้าคุณชั้นสามัญที่ พระประภัสสรมุนี
เป็นเจ้าคุณชั้นราชที่ พระราชสิทธาจารย์ ตามลำดับมา 
พระราชสิทธาจารย์ (บุญเรือง ปภสฺสโร) มีผู้คนเคารพนับถือจำนวนมาก ท่านได้ปรับปรุงส่งเสริม ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้านเกี่ยวกับพระศาสนา เช่น ประเพณีถวายเทียนพรรษาแต่โบราณในวันเข้าพรรษา คือ วันเพ็ญเดือนแปด เป็นต้น 
ชาวบ้านในเขตอำเภอเสลภูมิแต่ละครัวเรือนทำธูปเทียนไปถวายวัดในหมู่บ้าน ซึ่งในสมัยนั้นมีท่านขุนปราณีจีนธานี (ชะลูด  สิงห์ประเสริฐ) เป็นนายอำเภอเสลภูมิ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๔๘๘ และได้จัดให้มีการรวมกลุ่มเป็นหมู่ (เป็นคุ้ม) เข้าขบวนแห่เพื่อให้เกิดความสามัคคี ทางอำเภอเสลภูมิได้จัดให้มีประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาเป็นประจำทุกปี จนถึงปัจจุบันนี้ 
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ พระราชสิทธาจารย์ (บุญเรือง ปภสฺสโร) ได้มรณภาพลง คณะทายกทายิกาได้กราบอาราธนา พระครูวินัยรสสุนทร (รส  ปญฺญาพโล) เจ้าอาวาสวัดสุปัญญาราม ในขณะนั้น และเจ้าคณะอำเภอเสลภูมิอาจสามารถ (ธรรมยุต) มาเป็นเจ้าอาวาสแทน ซึ่งท่านเป็นสหธรรมิก ของท่านเจ้าคุณพระราชสิทธาจารย์ (บุญเรือง ปภสฺสโร) เป็นคู่นาคกันในวันอุปสมบท พระครูวินัยรสสุนทร (รส ปญฺญาพโล) ได้จัดให้มีการแสดงธรรมแก่ประชาชน สืบทอดต่อมา และมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเพิ่มเติมให้เจริญก้าวหน้าขึ้น การก่อสร้างปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกุฏิ วิหาร สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม และสร้างกำแพงรอบวัด ด้านการศึกษาอบรมจัดตั้งขึ้นให้ชื่อว่าศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมวัดมิ่งเมือง
ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ วัดมิ่งเมืองได้รับการคัดเลือกให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ของกรมการศาสนา
ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ วัดมิ่งเมืองได้รับการคัดเลือกให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ของกรมการศาสนา เป็นปีที่ ๒
ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ พระครูวินัยรสสุนทร เริ่มรวบรวมและจัดตั้งเป็นทุนนิธิขึ้น เพื่อจัดตั้งเป็นมูลนิธิ                   ต่อไป
ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม
ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ พระครูวินัยรสสุนทร ได้มรณภาพ  
พระมหาสายัณห์ ปญฺญาวชิโร  ซึ่งทางสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์ ส่งมาปฏิบัติศาสนกิจที่วัดมิ่งเมือง ทั้งยังเป็นลูกศิษย์วัดมิ่งเมืองที่เคยอุปัฏฐากพระครูวินัยรสสุนทร มาดำรงตำแหน่ง เลขานุการศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม วัดมิ่งเมือง ด้วยเป็นพระหนุ่มที่รุ่นใหม่ไฟแรงและได้ดำเนินรอยตามบุรพาจารย์ในด้านการพัฒนา จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าอาวาสวัดมิ่งเมือง เจ้าคณะอำเภอเสลภูมิ (ธ) และได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก ในพระราชทินนามที่ พระครูเอกุตรสตาธิคุณ และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นตามลำดับ
จนเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธรรมยุต) ในพระราชทินนามที่ พระสุทธิสารโสภณ และเลื่อนมาเป็นเจ้าคุณชั้นราชที่ พระราชปริยัติวิมล ท่านได้สานต่อเจตนารมณ์ของอดีตเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมืองทั้งสองรูปด้วยดีตลอดมา
ปี พ.ศ.๒๕๓๑ ได้รับการคัดเลือกเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น ของประเทศ
ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ จัดตั้งเป็น มูลนิธิปัสสรปัญญาพล เพื่อเอาดอกผลมาบำรุง ส่งเสริมการศึกษ
การเผยแผ่ การสาธารณูปการ การปฏิบัติธรรม การส่งเสริมอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้
ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ จัดตั้งเป็น ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดมิ่งเมือง และได้รับคัดเลือกเป็นศูนย์ศึกษาที่มีผลงานดีเด่น ระดับประเทศในปีการศึกษา ๒๕๓๙ ในขณะเดียวกัน พระราชปริยัติวิมล (สายัณห์ ปญฺญาวชิโร) ได้พัฒนาวัดให้เป็นไปตามกระแสของสังคมในยุคปัจจุบัน
ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ จัดตั้งเป็นโรงเรียนวิโรจน์ผดุงศาสน์ พระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและขยายเป็นระดับมัยมศึกษาตอนปลายในปี พ.ศ.๒๕๓๗ สายวิทยาศาสตร์
วัดมิ่งเมือง ได้มีการยึดเอาหลักการพัฒนาทั้งในด้านศาสนวัตถุและศาสนบุคคล เป็นสำคัญ  เริ่มต้นจากเจ้าอาวาสรูปแรกซึ่งเป็นการปกครองจากคณะมหานิกาย จนมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นคณะธรรมยุต มีลำดับเจ้าอาวาสดังนี้
๑. พระครูพิทักษ์อมรพันธ์ (ญาครูพระลูกแก้ว)
๒. พระครูอุตตรานุรักษ์ (อินทร์)
๓. พระราชสิทธาจารย์ (บุญเรือง ปภสฺสโร)
๔. พระครูวินัยรสสุนทร (รส  ปญฺญาพโล)
๕. พระ
ราชปริยัติวิมล (สายัณห์ ปญฺญาวชิโร ป.ธ.๔,ศน.บ.,M.A.,Ph.D.)
ปัจจุบันวัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่เลขที่ ๑๔๘ หมู่ที่ ๓ ตำบลกลาง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด รหัสไปรษณีย์ ๔๕๑๒๐ 
จากอดีตถึงปัจจุบันวัดมิ่งเมืองมีบทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้ว่า วัดมิ่งเมือง เป็นวัดที่มีพระเถระผู้ใหญ่เข้ามาตรวจเยี่ยมอยู่เสมอมิได้ขาด นับตั้งแต่
-สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) สมเด็จพระสังฆรา (สมัยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา) วัดบรมนิวาส  กรุงเทพมหานคร 
-สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ประธานเจ้าคณะภาค ๘,,๑๐ และ ๑๑ วัดนรนาถสุนทริกราม 
-สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร
-สมเด็จพระญาณวโรดม วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร
-พระพรหมมุนี (แม่กองธรรมสนามหลวง) วัดบวรนิเวศน์วิหาร เป็นต้น
ทางด้านประวัติพระพุทธศาสนาแพร่เข้ามาสู่อำเภอเสลภูมิก่อน ปี พ.ศ. ๒๑๙๘ แสดงให้เห็นถึงความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี นับแต่พระพุทธศาสนายุค ศรีสันตนาคนหุต แพร่เข้าสู่ภาคอีสานของประเทศไทย  ทำให้พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับมา จนกระทั่งคณะธรรมยุตนิกายได้แพร่ขยายเข้ามาสู่ภาคอีสาน และแพร่เข้ามาในอำเภอเสลภูมิมีวัดมิ่งเมืองเป็นต้น จึงทำให้วัดมิ่งเมืองได้รับการพัฒนาให้เจริญเป็นลำดับ และเป็นศูนย์รวมของการเผยแผ่ธรรม ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าชาวอำเภอเสลภูมิส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมก็ตาม แต่ศรัทธาของชาวอำเภอเสลภูมิที่มีต่อพระพุทธศาสนานั้นมีเป็นอย่างมาก และทำให้อำเภอเสลภูมิ เจริญรุ่งเรือง ชาวอำเภอเองมีความสมัครสมานสามัคคีกันเป็นอย่างดี
ประวัติเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมืองรูปปัจจุบัน โดยสังเขป
พระราชปริยัติวิมล (สายัณห์ ปญฺญาวชิโร)
การศึกษา
-เปรียญธรรม ๔ ประโยค
-ปริญญาตรี ศาสนศาสตร์บัณฑิต (ศน.บ.) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศน์วิหาร กรุงเทพฯ
-ปริญญาโท M.A.(Master of art) มหาวิทยาลัยเดลี(DU) กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย
-ปริญญาเอก Ph.D.(Doctor of Philosophy) มหาวิทยาลัยมารัทวาดาร์ เมืองออรังคบาด รัฐมหารัชตระ ประเทศอินเดีย
การปกครอง
        -ผู้จัดการโรงเรียนวิโรจน์ผดุงศาสน์ วัดมิ่งเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
          -ผู้จัดการศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมวัดมิ่งเมือง
          -ผู้จัดการโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดมิ่งเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด
-เป็นพระอุปัชฌาย์
          -เจ้าอาวาสวัดมิ่งเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
          -เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด(ธ)
          -รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตร้อยเอ็ด
ส่งเสริมการศึกษา
        นอกจากพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ จะเป็นนักพัฒนาและนักปกครองแล้วยังมองเห็นการไกล ไม่เพียงแต่จะสร้างศาสนสถาน เช่น โบสถ์ วิหารลานเจดีย์เท่านั้น ยังส่งเสริมการศึกษาแก่พระภิกษุ-สามเณรที่เป็นสัทธิวิหาริกของท่านอย่างทั่วถึง ทั้งในและต่างประเทศทุกระดับชั้น ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงตอนปลาย(สายวิทย์ฯ) ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก และพระเดชพระคุณจะสอนลูกศิษย์เสมอว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนก็คือการศึกษา จากเด็กบ้านนอกคอกนาได้อาศัยร่มเงาผ้ากาสาวพัสตร์ถูกฝึกฝนอย่างดี ทั้งเรื่องระเบียบและวินัยตามครรลองแห่งพระพุทธศาสนา จะเป็นบรรทัดฐานให้มีโอกาสได้สร้างสรรทั้งความรู้และความสามารถควบคู่กันไป
นอกจากนั้นท่านยังส่งเสริมงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในและต่างประเทศ โดยส่งพระลูกวัดที่มีความสามารถดี เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตเพื่อเดินทางไปช่วยงานพระศาสนายังต่างแดน ที่สำคัญตอนนี้ท่านได้ส่งลูกศิษย์ไปศึกษายังประเทศอินเดียจำนวน ๖ รูปด้วยกัน ประกอบไปด้วย
          ๑.พระมหาประภาส ปริชาโน(แก้วเกตุพงษ์) ป.ธ.๔,ศน.บ.คณะปรัชญาและศาสนา(เกียรตินิยมอันดับ๑), M.A.(Indian Philosophy and Religion) (First class) กำลังศึกษาปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยบาณารัสฮินดู(B.H.U.) รัฐอุตตรประเทศ เมืองพาราณสี อินเดีย
          ๒.พระมหาศุภฤกษ์ ปญฺญาวโร (ภูกาบ) ป.ธ.๔,ศน.บ.,M.A.(I.P.R.) กำลังรอสมัครปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยบาณารัสฮินดู รัฐอุตตรประเทศ เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย
          ๓.พระอภิชาติ อภิญาโณ (แก้วเกตุพงษ์) น.ธ.เอก,ศน.บ.(ภาษาศาสตร์), M.A.(Pali & Buddhist Studies), กำลังศึกษาระดับอนุปริญญาโท (Diploma in Philosophy) มหาวิทยาลัยเมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ และกำลังสอบเข้าเรียนระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยนาลันทา รัฐพิหาร อินเดีย
          ๔.พระมหาบุรินทร์ ปวรินฺโท ป.ธ.๖,ศน.บ.,M.A.(Linguistic) ปัจจุบันศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย ปูเณ รัฐมหารัชตระ อินเดีย
          ๕.พระมหาประวิทย์ ทินวโร(ธงชัย) ป.ธ.๔,ศน.บ.,M.A.(Linguistic), กำลังศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยบาณารัสฮินดู เมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย
          ๖.พระสุริยะ ชวนปญฺโญ(ศรีสุระ) ป.ธ.๑-๒,ศน.บ.,กำลังศึกษาปริญญาโท(M.A.)คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบาณารัสฮินดู เมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ อินเดีย (แต่มีปัญหาด้านสุขภาพจึงต้องเดินทางกลับก่อนสำเร็จการศึกษา)
พระธรรมทูตที่พระเดชพระคุณส่งไปยังต่างประเทศ ประกอบไปด้วย
          ๑.พระมหาอุบล ติกฺขปญฺโญ(อาทิตย์ตั้ง) ป.ธ.๔, ศน.บ.,ศน.ม.
          ๒.พระมหาสุริยา จนฺทวณฺโณ(ดอกรัง) ป.ธ.๔,ศน.บ. (ปฏิบัติศาสนกิจทวีปยุโรป)
          ๓.พระมหายอดดอย ปญฺญาภรโณ (ดีดอนดู่) ป.ธ.๔,ศน.บ. (ปฏิบัติศาสนกิจประเทศยุโรป)
          ๔.พระมหาทะบุตร อภิปุญฺโญ ป.ธ.๓,ศน.บ. (ปฏิบัติศาสนกิจประเทศสหรัฐอเมริกา)
          ส่วนหลวงพ่อเจ้าคุณ พระราชปริยัติวิมล (สายัณห์ ปญฺญาวชิโร) ก็ยังได้เดินทางไปประกาศพระศาสนายังต่างประเทศบ่อยๆ เพื่อให้กำลังใจแก่พระธรรมทูตและศึกษาดูงานอีกด้วย อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐอินเดีย ประเทศออสเตเรีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศนิวซีแลน ประเทศสวิซเซอร์แลน ประเทศเยอรมัน เป็นต้น 
     

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

มีอันใดในตน

                หายใจเข้า หายใจออก บอกไม่ถูก                          หรือจมูก ไร้ประสาท ขาดกลิ่นไหน
ชีวิตคน ยลความตาย มลายไป                                                เพลาใด ไม่รู้ อยู่โลกา
                มัวยื้อแย่ง แบ่งสินทรัพย์ อันยุ่งยาก                       มันลำบาก ทะเลาะกัน ทุกวัสสา
บ้างทะเลาะ เบาะแว้ง แกล้งน้ำตา                                           บ้างเข่นฆ่า เพื่อแย่งชิง สิ่งนี้เอง
                บางกลุ่มคน แย่งอำนาจ เป็นมาดใหญ่                   แย่งกันไป แย่งกันมา คราข่มเหง
แย่งกันกิน แย่งกันใช้ ไม่ยำเกรง                                            นั่งฟังเพลง อยู่ในคลับ รับสปาร์
                นี่ใช่หรือ คือคุณค่า แห่งชีวิต                                   วิปริต จิตสับสน มืดมนหนา
ไยไม่คิด ถึงเรื่องแท้ แลกายา                                                  ว่าภายหน้า จะมลาย สลายไป

                เหลือสิ่งใด ให้รุ่นหลัง ยังคิดถึง                       ความตราตรึง ซึ่งสิ่งดี มีแค่ไหน

ร่างกายนี้ จะถูกเผา เป็นเถ้าไฟ                                               แล้วสิ่งใด คือตัวตน ที่แท้จริง
                ตัวเรานี้ ไม่ใช่เรา เขลาว่าใช่                                   บัณฑิตไซร้ บอกว่าไม่ ใช่อหิงฯ
ธรรมชาติ สร้างเรามา หาของจริง                                           อย่าประวิง ให้ยุ่งยาก หลากคิดกัน
                ทำอย่างไร ให้เข้าใจ ธรรมชาติ                               มัวประมาท ไปไย ในสิ่งสรร
ควรเข้าใจ ความจริงแท้ แน่อนันต์                                          จะได้ไป สรวงสวรรค์ วิมานทอง
                คนหนอคน ช่างแกมโกง ความจริงแท้                   ทุกสิ่งแล สร้างขึ้นมา ว่าสนอง
เดี๋ยวอีกหน่อย พลอยพากัน น้ำตานอง                                   ไม่ตรึกตรอง มองให้ถูก ปลูกความดี
                ทุกสิ่งอย่าง ที่มนุษย์ สรรหาไว้                               มีคนใด นำไปใช้  ได้เป็นศรี  
ไปตัวเปล่า เหมือนยามมา หาโลกีย์                                        อยู่โลกนี้ อีกไม่นาน คงสิ้นลม
                อุปมา เหมือนเศรษฐี ที่สร้างบ้าน                           อีกคนงาน ตั้งมากมาย นายสนม
ศฤงคาร มีพันเกวียน เปลี่ยนคู่ชม                                           ไม่นานนม ก็ต้องแพ้ แก่ความตาย
                สิ่งที่เหลือ เป็นของคน ที่ยังอยู่                               ได้ชั่วครู่ ก็คงเหมือน เคลื่อนสลาย
ชมชั่วครู่ ก็ต้องทิ้ง สิ่งมากมาย                                               ในสุดท้าย ก็ถูกพราก จากของตน
                สิ่งใดเล่า คือเราแท้ แน่นำใช้                                   ขอบอกให้ ความดีไง ไม่สับสน
คุณความดี มีเท่านั้น ทุกวันชม                                                เป็นสายลม แห่งความเย็น ให้เห็นดี
                ธรรมชาติ คือว่างเปล่า ให้เราคิด                              รีบพิชิต ชิดความงาม ตามวิถี
สิ่งใดใช่ ควรสร้างไว้ บรรดามี                                                จะโสภี มีชั่วนาน อวสานเอยฯ
                (พระมหาประภาส ปริชาโน ประพันธ์)

“โลกวุ่นเพราะคนกวน”

อนิจจา         โลกา           มาเปลี่ยนผัน
ทุกคืนวัน       หมุนเวียน      ไม่คงที่
ชนทั่วโลก      ต่างเศร้า       เหงาฤดี
เพราะโลกีย์    กำลังร้อน      เหมือนก้อนไฟ
โลกใบนี้        เคยเย็น        กลับเป็นร้อน
เคยกินนอน    อย่างสุข       สนุกไฉน
ในวันนี้         คงเห็น         เป็นเช่นไร
วุ่นวายไป      ในหล้า         ชีวาวาย
เกิดสงคราม    ทุกแห่ง         แย่งเป็นใหญ่
โจรจัญไร       ไม่กลัว         ศาลกฎหมาย
อันการเมือง    ตกต่ำ          จวนจะวาย
ศาสนา         ยิ่งร้าย         ก้าวก่ายกัน
บางศาสน์นั้น  มันใช้          กำลังแย่ง
ใช้มีดแทง      ปาระเบิด       เกิดหุนหัน
เผาโรงเรียน    ปาดคอ         คร่ารายวัน
ไม่กลัวกัน      เลยบาป        จะงาบคอ
ธรรมชาติ      รุนแรง         แผลงฤทธิ์ขึ้น
ทำคนมึน       เวียนเศียร      อาเจียนศอ
นี้เป็นเพราะ    มนุษย์          ไม่รู้พอ
เทวดา         ไม่ยกยอ        เห็นไหมเอยฯ
(พระมหาประภาส ปริชาโน ประพันธ์)

ประวัติศิวลึงค์

รูปปั้นพระศิวะ ถือว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์มหาเทพที่ยิ่งใหญ่ในดวงใจของชาวฮินดู (พระพรหม พระวิษณุหรือพระนาราย พระศิวะหรือพระอิศวร) ซึ่งเป็นมหาเทพที่ร้ายกาจมากจนผู้นับถือต้องยำเกรงอย่างสนิทใจ ที่สำคัญมากก็คือเรื่องการบูชารูปเคารพ คนอินเดียจะมีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าเป็นอย่างมาก อะไรก็ตามที่ศรัทธาว่าเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ก็จะร่วมมือร่วมใจสร้างรูปเคารพต่างๆขึ้น แล้วประดิษฐานตามวัด(มันดีร) เพื่อให้ผู้คนที่นับถือเดินทางผ่านไปผ่านมาได้สัการะบูชาอย่างสะดวกสบาย
ในที่นี้จะขอหยิบยกประวัติ ศิวลึงค์ (ศิวะหมายถึงชื่อพระศิวะ, ลึงค์ แปลว่าเพศหรืออวัยวะเพศชาย) ซึ่งเป็นอีกสิ่งเคารพอันสูงส่งของชาวฮินดู แต่ถ้าเห็นรูปปั้นศิวลึงค์อยู่ที่ไหนก็จะปรากฏมีรูป โยนี(อวัยวะเพศสตรี)อยู่ด้วยกัน เพราะมีหลายคนเคยถามด้วยความสงสัยและอยากรู้อยากทราบจริงๆ ที่มาของการสัการะบูชารูปปั้นทั้งสองอย่างนี้ ได้ถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์ ลิงคปูรณะ ซึ่งเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์อีกเล่มของชาวฮินดู เอาล่ะไม่ควรจะเสียเวลาเกริ่นยาวมากไป หลายคนแทบจะอดรนทนกลั้นที่อยากจะรู้ไม่ไหวแล้ว เข้าเรื่องกันเลย ตามข้าพเจ้ามาด่วนจี๋ทางนี้
มีประวัติอยู่ว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...พระพรหม พระวิษณุ และพระนางวาสิฏฐี พร้อมด้วยเทพบรวารอื่นๆ ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระศิวะที่เขาไกรราสถึงที่ประทับ เพื่อประชุมปรึกษาหารือกันในเรื่องต่างๆ ตามประสาเทพเจ้าคุยกัน แต่บังเอิญในขณะนั้นพระศิวะเสวยน้ำโสม(สุราดีๆนี่เอง)มากเกินไป จนกระทั่งเมาไม่มีสติสตังค์ (โบราณบอกว่า พอเหล้าเข้าปากก็มักจะทำผิดศีลได้ทุกข้อ) เป็นจริงอย่างนั้นทุกประการ ขณะนั้นพระชายาของพระศิวะคือ พระนางปารวตี ก็อยู่ในท้องพระโรงด้วย พระศิวะพอมองเห็นศรีภรรยาก็เกิดอารมณ์ทางเพศขึ้น โดยไม่ได้สนใจว่าสถานที่แห่งนี้คือท้องพระโรง(ห้องประชุมของเหล่าเทพ)...
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย สติมาปัญญาจะเกิด หากสติเตลิดก็จะเกิดปัญหา พระศิวะไม่มีสติเลยแม้แต่น้อย เพราะดื่มมากไป ทรงเสพสังวาส(มีเพศสัมพันธ์)กับพระนางปารวตี ณ สถานที่แห่งนั้นนั่นเอง (เห็นหรือยังว่าเทพเจ้าของชาวฮินดูก็ไม่ได้แตกต่างจากมนุษย์มากมายอะไรนัก เพราะยังมีราคะ โทสะ และโมหะ เหมือนกันกับเรา และมีครอบครัวได้อย่างมนุษย์นี่แหละท่านเอ๋ย..)
ขณะที่กำลังเสพสังวาสกันอย่างดื่มด่ำอยู่นั้นจนหน้ามือดตามัว จึงไม่ได้สำนึกถึงการกระทำอันไม่สมควร เทพทั้งหลายที่นัดกันมาประชุม ได้เข้ามาเจอภาพอันน่าระอาและความไม่สำรวมในกามคุณของพระศิวะและภรรยาเข้าพอดี จึงพากันดูถูกเหยียดหยาม ในการกระทำที่ทั้งสองพระองค์ไม่สามารถจะควบคุมตัวเองได้ พระวิษณุถึงกับอดกลั้นหัวเราะไว้ไม่ได้ ที่เห็นภาพทั้งสองพระองค์ขาดสติสัมปชัญญะ(ก็คงจะเหมือนกับเราไปเห็นคนเมานี่กระมัง!) บรรดาเทพเจ้าต่างๆ พากันร้องด่าอย่างไม่พอใจว่า พวกที่มีสมบัติผู้ดีอย่าได้มาคบค้าสมาคมกับพระศิวะนี้เลย... จากนั้นพากันสาปแช่งต่างๆ นานาก่อนจะเดินหันหลังจากไป
เมื่อทั้งสองพระองค์คลายจากภาวะเช่นนั้นแล้ว พระศิวะจึงถามทหารรักษาประตูว่า มีใครมาส่งเสียงรบกวนเราหรือไม่ ทหารก็เล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ทรงทราบ เมื่อทราบดังนั้นทั้งพระศิวะและพระนางปารวตี ก็เกิดความอับอายเป็นอย่างมาก พระศิวะทรงมีพระประสงค์จะให้มวลมนุษย์ได้จดจำการกระทำ ที่ทำให้ทั้งสองพระองค์เกิดความอับอายเช่นนั้นไปตลอดชั่วกาลนาน(ฟังดูก็เหมือนกับการป้องกันและกลบเกลื่อนความผิดที่ตนได้กระทำลงไปนี่นา.) จึงมีรับสั่งว่า ข้าฯ คือพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด ดังนั้น ลึงค์ของข้าพร้อมกับของพระเทวีก็เช่นเดียวกัน มันคือสัญลักษณ์แสดงการต้องรับของเทพพระเจ้าที่เขาไกรราส ความอับอายได้ทำลายชื่อเสียงของทั้งสองพระองค์ แต่ทำให้สัญลักษณ์ของทั้งสองพระองค์มีชีวิตที่เป็นอมตะ คือ ศิวลึงค์กับโยนี จนกลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่เก่าแก่ที่สุด ที่ผู้คนชาวฮินดูมาบูชากราบไหว้จนถึงปัจจุบัน จึงไม่มีสัญลักษณ์ใดที่จะมาเป็นตัวแทนของพระศิวะได้ดีเท่าศิวลึงค์อีกแล้ว ดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้
นอกจากนั้น ชาวฮินดูเชื่อว่า มนุษย์มีกำเนิดมาจากความเร้นลับซับซ้อนอันมหัศจรรย์ ของการร่วมเพศ ซึ่งมีศิวลึงค์กับโยนีเป็นผู้ผลิตผลให้มนุษย์เกิดมา ลึงค์ จึงเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งหมายถึงพระศิวะมหาเทพ จึงเรียกว่า ศิวลึงค์ และโยนี ก็คือผู้ให้กำเนิดแก่สรรพสัตว์  สิ่งเหล่านี้ได้ถูกนำมาวินิจฉัยกันอย่างละเอียดลึกซึ้ง และเป็นมูลเหตุให้เกิดเป็นลัทธิตันตระ(หมายถึงลัทธิที่เชื่อว่าการจะบรรลุสิ่งสูงสุดได้จะต้องผ่านการมีเพศสัมพันธ์กันก่อนโดยไม่เลือกว่าผัวเมียใคร) จึงปรากฏรูปปั้นปฏิมากรรมแสดงท่าทางการร่วมเพศเสพสังวาสท่าต่างๆ ที่โด่งดังไปทั่วโลก คือ ที่เมืองขะชุระโห (ที่กำเนิดคัมภีร์กามสูตรนั่นไงท่าน)
ส่วนศิวลึงค์ที่เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก อยู่ที่เมืองพาราณสี คือ มุขศิวลึงค์ จะมีการแกะสลักหินทั้งแท่งให้เป็นรูปศิวลึงค์ ตรงโคนศิวลึงค์จะแกะสลักรูปพระพักตร์ของพระศิวะไว้ทั้งสี่มุม ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในมุขด้านซ้ายภายในเจดีย์ใหญ่ที่ วัดศิวนาถมันดีร วัดนี้ตั้งอยู่ใจกลางของมหาวิทยาลัยบาณารัสฮินดู เมืองพาราณสีนี่เอง หากท่านใดสนใจอยากมาดูด้วยตาของตนเอง สามารถเดินทางมาเยียมชมได้อย่างสะดวกนะคุณเอ๋ย.....         

วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เยือนพุทธสถาน

องค์เจดีย์สูงเด่นเป็นสง่า                     
พระราชาสร้างไว้อนุสรณ์
ประวัติศาสตร์ชัดเจนอย่างแน่นอน          
ทุกขั้นตอนจารึกบันทึกการณ์
เหล่าชาวพุทธทั่วโลกมาก้มกราบ            
เป็นที่ทราบเรื่องราวทุกสถาน
สมเด็จพ่อองค์เดียวพร้อมกราบกราน        
ไม่ประมาณศรัทธามหาชน
พระคุณล้นโลกาอาสาสอน                   
เวลานอนไม่พอพ่อเร่งขน
นำธรรมะชี้ทางอันมืดมน                     
มิเคยบ่นขวนขวายช่วยโลกเอยฯ

ตราบาปบนแผ่นดินไทย

โรงเรียนถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน
ต่างเล่าขานทั่วไทยใจถวิล
ครูถูกฆ่าเหมือนหมูหมาเป็นราคิน
ไทยต้องสิ้นแม่พิมพ์ยิ้มเจือจาง
ไฟที่ไหม้เพราะใครใจดำแท้
มิเห็นแก่เด็กน้อยด้อยอ้างว้าง
แผ่นดินไทยร่มเย็นเห็นเป็นทาง
ไยต้องล้างด้วยเลือดเดือดเป็นไฟ
          เรามีพ่ออยู่หัวเป็นร่มฉัตร
          ฝ่ายพระสงฆ์ถือพัดปัดคุณไสย์
          บุรพกษัตริย์ของชาวไทย
          หวังให้ไทยเป็นไทยตราบเท่านาน
เหตุใดหนอจึงล้างผลาญด้วยความโหด
ไม่คิดโทษว่าหนักจักล้างผลาญ
จะทำดีหรือชั่วทุกครั้งกาล
มินมนานผลแห่งกรรมต้องตามทัน
          คิดทบทวนเถิดหนาผู้ทำผิด
          จิตที่คิดมัวหมองลองสร้างฝัน
          จะอยู่ไหนไร้สุขทุกคืนวัน
          ดีชั่วนั้นพลันทราบตราบจริงเอยฯ
       (พระมหาประภาส ปริชาโน ประพันธ์)