ยินดีต้อนรับสู่อาณาจักรแห่งความรู้คู่ความสำเร็จ

หากท่านสนใจพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ และเรื่องอื่นๆ สามารถเข้ามาเยี่ยมเยือนได้ตลอดเวลา นมัสเต....

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล

ตื่นเถิดหนาชาวพุทธบุตรของพ่อ
มาเติมต่อก่อสร้างทางสวรรค์
อย่าประมาทพลาดพลั้งถึงชีวันต์
เชิญร่วมกันสักการะสี่สังเว...ฯ

โลกใบนี้ที่ร้อนเพราะไฟเผา
กิเลสเร้าจนใจไป่ไขว้เขว
ยืนยังล้มนั่งหลับเดินซวนเซ
เพราะเจอเล่ห์ราคินที่กินใจ

ไฟราคะโทสะโมหะนี้
สามารถที่จะเผาผู้หลับไหล
กิเลสทับถมอยู่ในฤทัย
รีบกำจัดปัดไปให้ห่างตน

คนที่ทุกข์ใช่เพียงตนแต่คนอื่น
สามัคคีหยิบยื่นอย่าฉงน
สร้างรอยยิ้มอิ่มเอิบเลิกกังวล
เราทุกคนล้วนต้องตายมลายเอย

รีบสร้างบุญเถิดหนาพาพบสุข
มัวสนุกกับกิเลสจนเมินเฉย
ชีวิตเราเที่ยงแท้มิใช่เลย
คิดทำพูดให้เคยเผยแง่ดี

สักการะพระทรงญาณสำราญรุ่ง
เชิญเดินมุ่งหน้ามาสว่างศรี
รอยพระบาทพุทธะพระมุนี
เป็นแหล่งที่ควรกราบบังคมทูล

รากเหง้าแท้แดนพุทธคืออินเดีย
อย่าละเหี่ยมาเล้วไม่เปล่าสูญ
หากใครเห็นเป็นจริงยิ่งอาดูร
อยากเทิดทูลพุทธธรรมนำชีวีฯ


วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554

พระฟาเหียน (ตอนเมืองราชคฤห์)

 ท่านพระฟาเหียนเป็นพระสงฆ์ชาวจีนรูปแรกที่ได้เดินทางมาอินเดีย
เพื่อสืบสานหาตำนานทางพระพุทธศาสนา เป็นการจาริกเพื่อค้นหาความจริง
ที่ยังสงสัยในใจของท่าน เพราะท่านเองก็เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ซึ่งเกิดมาห่างจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง ๙๖๐ กว่าปี
ท่านออกเดินทางจากจีนเข้าสู่แดนมหาภารตะ บันทึกการเดินทางของท่าน
จึงเป็นเสมือนแผนที่ให้พระถังซำจั๋ง ได้เจริญรอยตาม
กลายเป็นตำนานจดหมายเหตุที่มหัศจรรย์
พระฟาเหียนท่านเดินทางมาถึงเมืองราชคฤห์
ได้พรรณาถึงสิ่งที่ท่านมาเห็นด้วยตาท่านเองว่า....

        .....ออกจาหมู่บ้านนาละ(นาลันทา) เดินเลียบไปตามยาวของพืดเขา
ทางตะวันออกเฉียงใต้ ภายหลังเมื่อได้เดินสูงขึ้นไปเป็นระยะทางราว ๓๐๐ เส้น
แล้ว ก็ถึงยอดเขาคิชฌกูฏ ระยะทางอีก ๖๐ เส้นก่อนที่จะถึงยอดเขา
ณ ที่นั้นเป็นถ้ำลึกเข้าไปในศิลาแห่งหนึ่ง หันหน้าลงทางทิศใต้
ในนี้เป็นที่พระพุทธองค์ทรงนั่งประทับเจริญภาวนา ต่อไปอีก ๓๐ ก้าว
ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ณ ที่นั้นเป็นถ้ำอีกแห่งหนึ่ง
ซึ่งพระอานนท์นั่งเจริญศีลภาวนา ขณะนั้นเทวมารปิศุน
(เป็นนามที่ตั้งให้มารตนหนึ่ง เป็นผู้มีบาปและหนาแน่นไปด้วยกิเลส)
จำแลงตนเป็นแร้งใหญ่ ไปจับอยู่ที่หน้าถ้ำ
เป็นเหตุให้พระอานนท์ตกใจกลัว โดยบุญฤทธิ์
และอำนาจอันเหนือความเป็นธรรมดาของพระพุทธองค์
กระทำให้หินบังเกิดเป็นช่อง พระพุทธองค์ได้ยื่นพระหัตถ์ไปตามช่อง
แล้วลูบที่บ่าของพระอานนท์ ในทันใดนั้นความกลัวของพระอานนท์ก็หายไป 
รอยเท้าของนกแร้งและช่องที่พระองค์ยื่นพระหัตถ์ไปยังคงปรากฏอยู่
และจากสาเหตุเรื่องนี้ ภูเขาลูกนี้จึงได้นามว่า “ภูเขาถ้ำนกแร้ง หรือ คิชฌกูฏ
ในบริเวณด้านหน้าของถ้ำมีสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทั้ง ๔
พระองค์นั่งประทับ และมีถ้ำสำหรับพระอรหันต์ทุกๆ
องค์นั่งเจริญภาวนาดุจเดียวกัน ทั้งหมดมีจำนวนอีกหลายร้อย 
ณ สถานที่ตอนด้านหน้าคูหา เป็นทางที่พระพุทธองค์
ทรงพระดำเนินจงกรม จากตะวันออกไปสู่ตะวันตก
และจากระหว่างหน้าผาทางเหนือของภูเขาลูกนี้ 
เทวทัตต์ได้ทิ้งก้อนหินลงมาต้องนิ้วพระพุทธบาทชอกช้ำ
หินก้อนนั้นยังมีอยู่ ณ ที่นี้
ศาลาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนา
ถูกทำลายลงหมดแล้ว ยังเหลือเฉพาะฐานกำแพงอิฐตอนล่าง
ภูเขาลูกนี้มียอดอันเขียวชอุ่มงดงาม และในที่สูงตอนบนใหญ่โตกว้างขวาง
เป็นยอดที่สูงที่สุดกว่าภูเขาทั้ง ๕ ลูก ฟาเหียนได้ซื้อเครื่องหอม 
ดอกไม้ น้ำมัน และโคม จากในเมืองราชคฤห์ใหม่
โดยจ้างภิกษุสองรูป ซึ่งพักอาศัยอยู่ที่นี่มาก่อนให้เป็นผู้นำเอาขึ้นมาให้
เมื่อตนเองได้รับสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็กระทำการสักการะบูชาด้วยดอกไม้
และเผาเครื่องหอมตามประทีปโคมไฟ
ให้บังเกิดแสงสว่างในเพลาเมื่อเริ่มค่ำคืนมาครอบงำ
ขณะเดียวกันนั้น ฟาเหียนบังเกิดความรู้สึก
เปล่าเปลี่ยวเศร้าใจเหลือที่จะทนทาน
แต่ได้อุตส่าห์สะกดกลั้นน้ำตาของตนไว้และกล่าวว่า...
“ณ ที่นี้พระพุทธองค์ได้มอบพระสูตรศูรางคมให้ไว้
ข้าพระพุทธเจ้าฟาเหียนเกิดไม่ทันที่จะได้พบกับพระองค์
และในขณะนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นอยู่แต่รอยพระพุทธบาท
ซึ่งพระองค์ได้ทิ้งไปเสียแล้ว และที่นี่เป็นสถานที่พระพุทธองค์
ทรงพำนักอาศัยอยู่ แต่ก็ไม่ได้เห็นพระองค์อีกแล้ว”
ณ สถานที่นี้หน้าถ้ำหินนี้ พระฟาเหียนได้สวดพระสูตร
ในเวลาที่เหลืออยู่ตลอดทั้งคืน รุ่งเช้าจึงกลับลงไปเมืองราชคฤห์ใหม่.....

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

อินเดียประเพณี

เทศกาล ดีปาวาลี หรือ ดีวาลี คืออีกหนึ่งเทศกาลสำคัญของชาวฮินดู
เป็นทั้งวันปีใหม่ของอินเดีย และเป็นวันบูชาพระแม่ลักษมีเทวีอีกด้วย
ดีปาวาลี หมายถึง วันแห่งแสงสว่าง
ในวันนี้ชาวฮินดูจะทำการบูชาพระลักษมีด้วยแสงไฟจากตะเกียงประทีป
โดยจุดให้สว่างตลอดวันตลอดคืน
มีการสวดมนต์บูชาด้วยโศลกสรรเสริญต่างๆ รวมถึงการเอ่ยพระนาม 108 แห่ง
พระแม่ลักษมีเพื่อเป็นการยกย่องสรรเสริญและขอพรให้พระแม่ลักษมี
ประทานความสมบูรณ์แก่ชีวิตใน คัมภีร์รามายณะ กล่าวว่า
เมื่อพระรามสู้รบกับเหล่าอสูรจนมีชัยแล้ว
ก็ได้เดินทางกลับมาสู่อาณาจักรอโยธยาพร้อมกับพระลักษณ์และพระนางสีดา
ชายาแห่งพระองค์การกลับมาครั้งนี้เป็นการนำชัยชนะมาสู่อาณาจักร
 จึงมีการเฉลิมฉลองด้วยไฟกันทั่วทั้งอาณาจักรอโยธยา
ซึ่งวันที่พระรามกลับมานี้ก็ตรงกับวันดีปาวาลีวันดีปาวาลี
ยังเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง นั่นหมายถึงเป็นวันแห่ง
ความสุกสว่างของแสงจันทร์
พระจันทร์เต็มดวงในวันดีปาวาลีนี้ ถือเป็นการเต็มดวงครั้งแรกของปีใหม่
เรียกว่า "การติก อมาวาสยา"แม้ในความมืดแสงจันทร์ยังสว่างเฉิดฉาย
ก็มิต้องเกรงกลัวภยันตรายใดๆมาแผ้วพาน
การบูชาพระแม่ลักษมีในวันพระจันทร์เต็มดวงจึงเป็นการระลึก
ถึงพระคุณแห่งแสงจันทร์ด้วยในวันดังกล่าวจะมีการบูชา
พระแม่ลักษมีเป็นประธานแต่เทพเจ้าองค์อื่นๆ ก็จะได้รับการสวดบูชาด้วยเช่นกัน
มีการจุดตะเกียงดินเผา เทียน ประทีป ประดับประดาแท่นบูชา
ด้วยไฟกระพริบสีสันสวยงามบางบ้านมีการจุดเทียนหรือดวงประทีป
ในรูปแบบต่างๆ วางเป็นแนวยาวซ้ายขวาให้เป็นถนนจากหน้าบ้านไปสู่หิ้งบูชา
ของพระแม่ลักษมีที่ตั้งอยู่ในบ้าน เมื่อเสร็จสิ้นการสวดมนต์บูชาพระแม่ลักษมีแล้ว
จะมีการจุดพลุ ประทัด หรือตีเกราะเคาะไม้ให้เสียงดังเพื่อข่มอสูร
ไล่เอาสิ่งอัปมงคลออกไปจากบ้านเมืองให้เหลือแต่สิ่งที่เป็นมงคลตลอดไป
นอกจากการบูชาพระแม่ลักษมีแล้ว
ในวันดีปาวลีนี้ชาวฮินดูยังทำการปัดกวาดเช็ดถูทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่
ทำความสะอาดเครื่องมือหาเลี้ยงชีพให้เอี่ยมอ่อง
พ่อค้าแม่ค้าก็จะเปิดสมุดบัญชีเล่มใหม่
ซื้อปากกาใหม่ เปลี่ยนกุญแจตู้เซฟใหม่ ซื้อเสื้อผ้าใหม่สีสันสดสวย ฯลฯ
เป็นการต้อนรับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในปีถัดไป

เห็นหรือยังล่ะท่านผู้อ่านทั้งหลาย คนอินเดียเค้าก็มีอารายดีเยอะ
ชอบรักสวยรักงาม และยังรักษาความสะอาดที่มาจากภายในได้
(ถึงขยะภายนอกจะเยอะ)
มีความภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างกตัญญู ไม่เคลือบแคลงสงสัย
ถามเราเองในฐานะชาวพุทธบ้าง ว่าเราเองเคยแสดงความรักต่อ
พระพุทธองค์หรือยัง ทำอะไรเพื่อพระพุทธศาสนาหรือยัง???????

อย่ามองอินเดียเพียงแค่เปลือก ต้องมองให้ทะลุถึงก้นบึ้งแห่งหัวใจของชาวภารตะชน