ยินดีต้อนรับสู่อาณาจักรแห่งความรู้คู่ความสำเร็จ

หากท่านสนใจพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ และเรื่องอื่นๆ สามารถเข้ามาเยี่ยมเยือนได้ตลอดเวลา นมัสเต....

วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2556

พระมหาประภาส ปริชาโน & ASTV






 
พระมหา ดร.ประภาส ปริชาโน นำคณะทำประทักษิณรอบสถูปปรินิพพาน กุสินารา
 เมื่อครั้งพระอานนท์ได้ทูลถามพระพุทธองค์ก่อนเสด็จปรินิพพาน
 องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนในพระมหาปรินิพพานสูตร 
ณ สาลวโนทยาน กรุงกุสินารา ว่
       “เมื่อกาลก่อน พุทธบริษัทในทิศทั้งหลาย ต่างพากันมา

เพื่อเฝ้าพระตถาคต ย่อมได้เห็น ได้เข้าไปนั่งใกล้ภิกษุผู้เจริญใจ
เหล่านั้น ก็แต่ว่าเมื่อกาลเวลาล่วงไปแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า 
 จักไม่ได้เห็น ไม่ได้เข้าไปนั่งใกล้ภิกษุผู้เจริญใจเหล่านั้นอีก"
       พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบพระอานนท์ว่า
       “ดูก่อนอานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา 

ด้วยระลึกว่
       • พระตถาคตประสูติในที่นี้ ๑
       • พระตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาโพธิญาณในที่นี้ ๑
       • พระตถาคตยังธรรมจักรให้เป็นไปแล้วในที่นี้ ๑
       • พระตถาคตเสด็จปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้ ๑
       ดูก่อนอานนท์ ชนเหล่าใด เที่ยวจาริกไปยังเจดียสถานเหล่านั้นแล้ว 

มีจิตเลื่อมใส ชนเหล่านั้นทั้งหมด เบื้องหน้าแต่ตายมลายไป 
จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์"
       จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ทรงนำสังเวชนียสถานเป็นสื่อนำเข้าถึง

พระรัตนตรัย ดำเนินไปในสิ่งควรที่จะดู ควรจะเห็น ควรให้เกิดสังเวช
แก่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย และพึงกราบนมัสการด้วยความเคารพต่อ
สังเวชนียสถานทั้ง ๔ คือ สถานที่ประสูติ (ลุมพินี) ตรัสรู้ (พุทธคยา)  
ปฐมเทศนา (พาราณสี) และปรินิพพาน (กุสินารา)
       แน่นอนครับว่า คณะธรรมเดินทาง ณ ทางเดินธรรม ซึ่งจัดโดย

โครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี ก็ได้นำคณะผู้แสวงบุญ
กว่า 70 ท่าน เดินทางตามรอยทางเดินแห่งธรรมซึ่งองค์พระสัมมา
สัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ ครบทั้ง ๔ แห่ง โดยทุกท่านต่างนำพา
คุณธรรมของการเดินทางติดตัวไปด้วยทุกที่ ดั่งที่พระราชรัตนรังษี  
พระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย ได้เขียนไว้ในคู่มือสู่แดนพุทธองค์ ไว้ว่า
       ๑. สัทธิโก มีความศรัทธา เชื่อมั่น
       ๒. ปหูตธโน มีทรัพย์ภายนอก ภายใน พอแก่การใช้สอย
       ๓. อโรโค โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียน
       ๔. ปริวาโร มีบริวารสนับสนุน
       ๕. มัคคนายโก มีผู้นำพาที่เชื่อใจได้
       ๖. มัคคุเทสโก มีผู้บรรยายที่ชำนาญ ให้ความรู้

       ในข้อ ๑ สัทธิโก ผู้ที่จะเดินทางมาอินเดีย-เนปาล ต้องเป็นผู้ที่

มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นที่หนึ่ง เพราะแม้การเดินทางจะดีขึ้น
กว่าแต่ก่อน แต่ก็ยังมีความลำบากอยู่บ้าง ดังนั้น ศรัทธา ปัญญา 
และความเพียร จะเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจให้การเดินทางตามรอยธรรม 
เปี่ยมไปด้วยความสุข
       ข้อ ๒ ปหูตธโน เป็นเรื่องของทรัพย์ที่ถึงพร้อม ทั้งทรัพย์ทางกาย

และทรัพย์ทางใจ เพื่อหยิบจับจ่ายความสุข ความศรัทธา บารมี 
ที่มีตลอดการเดินทาง เรียกได้ว่านี่เป็นการช้อปปิ้งบุญที่ยิ่งใหญ่ 
ตามแต่ศรัทธาและปัญญาของใครที่จะเอื้อให้มองเห็นโอกาสแห่งบุญ 
โอกาสแห่งสุข ได้มากกว่ากัน
       ข้อ ๓ อโรโค เป็นการตั้งจิตตั้งใจมิให้โรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน

จะมีก็แต่ผู้เขียนที่ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศของอินเดียยังไม่ทัน 
ป่วยกันตั้งแต่คืนแรก แต่โชคดีที่กัลยาณมิตรพกพาหยูกยาหลายขนาน
มาให้ทาน บวกกับกำลังใจที่ได้รับ อาการจึงทุเลาลงได้
       ข้อ ๔ ปริวาโร บริวารในที่นี้หมายถึงผู้ที่ร่วมการเดินทางไปด้วย 

บางท่านมาเป็นคู่สามีภรรยา มากับเพื่อน หรือใครที่มาคนเดียว
ก็ไม่ต้องกลัวเหงา เพราะเรามีศรัทธาหนึ่งเดียวกัน เป็นใบเบิกทาง
ที่จะทำความรู้จักและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันตลอดการเดินทาง 
และกลับเมืองไทยยังได้กัลยาณมิตรเพิ่มอีกนับสิบนับร้อยคน
       ข้อ ๕ มัคคนายโก ผู้นำพาที่เชื่อใจได้ ในการเดินทาง

ทั้ง ๒ คณะ พระอาจารย์ชัยณรงค์ อุปสโม แห่งสำนักสงฆ์เขมาภิรโต 
อ.บ้านคา จ.ราชบุรี มีเมตตานำพาการเดินทาง 
พระอาจารย์ร่วมเดินทางไปกับเราทุกที่ใน ๔ สังเวชนียสถาน 
นำสวดมนต์ นำภาวนาจิตอธิษฐาน และเมื่อต้องใช้เวลา
ในการเดินทางนานๆ ก็ได้เมตตาแสดงธรรมสาธยายใน
มงคลสูตรและเล่าเรื่องอื่นๆ ตลอดการเดินทาง
       เมื่อถึงที่พักในช่วงค่ำหลังรับประทานอาหาร ยังได้เมตตา

จัดคอร์สดูแลรักษาสุขภาพตามแนวทางวิถีพุทธ เพื่อให้ชาวคณะ
ที่ร่วมเดินทาง นำความรู้ไปปรับใช้กับตนเองและคนในครอบครัวอีกด้ว
       ส่วนในข้อ ๖ มัคคุเทสโก ได้กราบนิมนต์ พระมหาดร.ประภาส ปริชาโน 

พระธรรมวิทยากรผู้ทรงภูมิ บรรยายและให้ความรู้ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ 
พุทธศาสตร์ พุทธประวัติ พระสูตร พุทธพจน์ นำกล่าว นำสวดมนต์ 
ซึ่งในที่นี้ ขออนุญาตเล่าสั้นๆ ให้อ่านกันก่อนว่า
       เมื่อครั้งคณะเดินทางตามรอยข้ามไปยังเนปาล เพื่อไปกราบ

สังเวชนียสถานที่ลุมพินี สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ 
พระมหาดร.ประภาส ได้นำสวดสรรเสริญ และกล่าวธรรมสาธยาย
ให้ฟังเรื่องมารดาผู้ให้กำเนิด เพื่อให้ระลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ 
ก่อนที่จะให้ชาวคณะได้ร่วมร้องเพลง "ค่าน้ำนม" ณ เบื้องหน้า
ลุมพินีสถาน สร้างความตื้นตันและประทับใจให้กับทุกท่านที่ได้
ระลึกถึงพระคุณแม่ บางท่านถึงกับหลั่งน้ำตาแห่งความปีติ
ออกมาเลยทีเดียว
       
       พระมหาดร.ประภาส เป็นพระหนุ่ม จบการศึกษาระดับปริญญาเอก 

จากมหาวิทยาลัยพาราณสีฮินดู ประเทศอินเดีย ท่านเป็นผู้มีความรู้รอบ
ในศาสตร์หลายแขนง เนื่องจากเป็นพระสงฆ์ที่รักการอ่าน 
ติดตามข่าวสารทางโลกอยู่เสมอ ส่งผลให้ในทุกการบรรยาย
และการสอนหนังสือ สามารถสอดแทรกหลักธรรมผนวกเข้ากับสถานการณ์
ณ ปัจจุบันขณะได้อย่างน่าสนใจ
       
       ผู้เขียนมีโอกาสสนทนากับพระมหาดร.ประภาส ในประเด็นการเกิดขึ้น 

ตั้งอยู่ ของพุทธศาสนา และถามว่า พุทธศาสนาใกล้ถึงเวลาดับแล้วหรือยัง 
พระมหาดร.ประภาส กล่าวว่า
       
       “พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พุทธศาสนาจะมีอายุ ๕,๐๐๐ ปี 

๑,๐๐๐ ปีแรกจะมีพระอรหันต์อยู่ ๑,๐๐๐ ปีให้หลังคือ ๒,๐๐๐ ปีต่อมา 
พระอรหันต์จะเริ่มหาน้อย ถึงมีก็จะมีประเภทที่เรียกว่า สุกขวิปัสสโก 
ท่านไม่มีฤทธิ์ ไม่สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ๑,๐๐๐ ปีต่อมา 
ก็จะลดเหลือเพียงแค่พระสกทาคามี
       ๑,๐๐๐ ปีให้หลัง ก็จะเหลือเฉพาะพระโสดาบัน 

แล้วต่อไปภายภาคหน้า แม้ภิกษุ ได้ชื่อว่าภิกษุ คือ แค่โกนผม 
แล้วก็จะมีแค่จีวรห้อยที่หู แต่ที่บอกว่า ๕,๐๐๐ ปีมันไม่ถึงง่ายๆ หรอก 
คือพุทธศาสนา คำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้หายไปไหน 
แต่คนต่างหากที่ห่างเหินจากศีลธรรม"
       นั่นย่อมสะท้อนให้เห็นว่า คำสอนของพระพุทธเจ้ามีอยู่ในทุกที่ 

ตราบใดที่ยังมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา 
ตราบนั้นโลกนี้ก็ยังมีคำสอนของพุทธศาสนาอยู่ 
พระพุทธเจ้าสอนสัจธรรม ที่ทำให้เราได้เห็นว่า นี่คือแก่นแท้ของศาสนา 
ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้ จึงเป็นสิ่งทำให้เราได้เห็นว่า
   
       แท้ที่จริงคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้เรียกว่าศาสนา 

แต่เรียกว่าสัจจนิยม เป็นความจริงโดยธรรมชาติ 
เป็นความจริงที่มีอยู่คู่กับโลกนี้มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์
 แม้จักรวาลมีการเปลี่ยนแปลง แต่คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ยังมีอยู่
       
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 145 มกราคม 2556 

โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ 
สถานีโทรทัศน์ ASTV)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น