ยินดีต้อนรับสู่อาณาจักรแห่งความรู้คู่ความสำเร็จ

หากท่านสนใจพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ และเรื่องอื่นๆ สามารถเข้ามาเยี่ยมเยือนได้ตลอดเวลา นมัสเต....

วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สิทธารถวิหาร หรือ เสนคุปตะ ลอดจ์

สิทธารถวิหาร หรือ เสนคุปตะ ลอดจ์
(Siddharth Vihar or Sengupta Lodge)
หอพักพระนักศึกษาไทยมหาวิทยาลัยบาณารัส ฮินดู เมืองพาราณสี
โดย พระมหาประภาส ปริชาโน
ประวัติโดยสังเขป
เสนคุปตะลอดจ์ (Sengupta Lodge) ชื่อนี้เป็นที่รู้จักของบรรดาสามล้อเครื่อง,สามล้อถีบหรือแม้แต่แท๊กซี่รับจ้าง  ถ้าท่านคิดจะเดินทางเข้ามาเยี่ยมพระสงฆ์ไทยก็ไม่ยากเลย  เพราะสามารถถามพวกรถโดยสารและสามารถพาท่านมาได้แน่นอน  เพราะหอเสนคุปตะลอดจ์เป็นสัญลักษณ์ของพระสงฆ์ไทย  พระที่ท่านเดินทางมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยบาณารัส ฮินดู (B.H.U.)แห่งนี้  จะต้องมาพักอยู่ที่หอแห่งนี้ก่อน  ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นวัดอีกแห่งเลยทีเดียว
ก่อนสถานที่แห่งนี้จะกลายมาเป็นหอพักพระนักศึกษาไทย  เดิมทีนั้นเป็นบ้านพักของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของทางมหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง มีนามว่า ศาสตราจารย์ มโนรันชัน เสนคุปตะ (Prof. Manoranjan Sengupta) หอพักแห่งนี้ได้ถูกเรียกตามชื่อนามสกุลของท่านคือ เสนคุปตะ  ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๔๔๗ (ค.ศ. ๑๙๐๔) ที่เมืองรังคปูร์ รัฐเบงกอลในสมัยที่อังกฤษปกครอง  ปัจจุบันเมืองดังกล่าวอยู่ในเขตปกครองของประเทศบังกลาเทศ 
บทบาทของท่านที่มีต่อมหาวิทยาลัยบาณารัส ฮินดู (B.H.U.) ท่านได้เป็นอาจารย์สอนในวิทยาลัยวิศวกรรม (Engineering College) ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันเทคโนโลยี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๕๑๑ (ค.ศ.๑๙๔๔-๑๙๖๘) รวม ๒๔ ปี ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณเป็นอาจารย์ใหญ่(Principal) ของสถาบัน  ในขณะนั้นท่านมีอายุ ๖๔ ปี (พ.ศ.๒๕๑๑) ท่านถึงแก่กรรมเมื่อปี ๒๕๓๙ ที่บ้านพักของท่านที่วินายกะกัมมัชชา  รวมสิริอายุได้ ๙๒ ปี
สันนิษฐานได้ว่า หลังจากที่ท่านเกษียณ (พ.ศ.๒๕๑๑) ท่านได้ย้ายครอบครัวออกไปอยู่ที่กัมมัชชา หอพักแห่งนี้จึงว่างลง รออาจารย์ท่านใหม่ที่มีคุณสมบัติเข้ามาอยู่แทน
กล่าวถึงฝ่ายพระนักศึกษาไทย ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๐๖-๒๕๐๗ ทางมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง (มหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย) ได้เริ่มส่งพระภิกษุผู้สำเร็จการศึกษาเข้ามาศึกษาที่มหาวิทยาลัยบาณารัส ฮินดู (B.H.U.) แห่งนี้
ฝ่ายมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๐๖ มีรายนามดังนี้         
๑.พระกิตติสารมุนี (ประจวบ)          ๒.พระอมราภิรักขิต (สุภัทร สุภทฺโท)
๓.พระมหาพรหม ศรีวงศ์              ๔.พระมหาทองสา สีหนันทวงศ์
๕.พระมหาสุชิน สุชินฺโน (ทองหยวก)   ๖.พระมหาสิงห์ทอง พรนิคม
๗.นายสุนทร ณ รังษี
ฝ่ายมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๐๗  มีรายนามดังนี้
๑.พระมหาอดิศักดิ์  ทองบุญ           ๒.พระมหาจำลอง  สารพัดนึก
๓.พระมหาสีลา(สิริวัฒน์)  คำวัสสา    ๔.พระมหาพร้อม โกวิโท
๕.พระมหาสังวร  พรมเสน                     
พระนักศึกษาไทยในสมัยนั้นทางมหาวิทยาลัยจัดให้พำนักอยู่รวมกัน กับนักศึกษาชายที่หอพักนักศึกษานานาชาติ  และตั้งแต่นั้นมา การไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยบาณารัส ฮินดู เมืองพาราณสีของพระนักศึกษาไทยก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง  จำนวนพระสงฆ์จึงเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗  รศ.ดร.จำลอง สารพัดนึก บันทึกไว้ในหนังสือชื่อ เมื่อข้าพเจ้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยพาราณสี  ระบุจำนวนพระนักศึกษาไทยจำนวน ๑๒ รูป พระลังกา ๑ รูป พระลาว ๑ รูป
ในฐานะนักศึกษา ความสะดวกและสัปปายะที่ทางมหาวิทยาลัยจัดให้  นับว่าสะดวกสบายทุกอย่าง  แต่สำหรับพระนักศึกษาไทยแล้วมีหมวกอีกใบหนึ่งที่ทุกรูปสวมทับเอาไว้ นั่นก็คือ ฐานะแห่งความเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา  ความรู้สึกลึกๆว่าขาดอยู่บางอย่าง คือ สถานที่ประกอบศาสนกิจ เช่นสถานที่ทำวัตรสวดมนต์  ลงฟังพระปาฏิโมกข์ในวันอุโบสถ เป็นต้น ในสมัยนั้นเมื่อถึงวันอุโบสถพระไทยเราจะต้องเดินทางไปวัดพม่าเพื่อร่วมฟังพระปาฏิโมข์  ซึ่งก็เป็นการเดินทางที่ลำบากพอสมควร
ล่วงมาอีก ๔-๕ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ กล่าวกันว่า ประธานพระนักศึกษาสมัยนั้นคือ พระมหาเกียรติ สุกิตฺติ (ปัจจุบันเป็นพระราชาคณะชั้นราชที่  พระราชธรรมมุนี) ทราบว่าเสนคุปตะลอดจ์ ซึ่งเป็นหอพักเดิมของท่าน ศ.มโนรันชัน เสนคุปตะ ได้ว่างลง ยังไม่ปรากฏว่ามีใครเข้าไปอาศัยอยู่  จึงได้ร่วมกับพระนักศึกษาไทยในสมัยนั้นพยายามขอหอพักดังกล่าว  ให้เป็นที่อยู่ของพระนักศึกษาไทย 
ในการวิ่งเต้นดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งนามว่า ศ. เอ.เค. นารายณ์ (A.K.Narain) ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของมหาวิทยาลัยภารตวิทยา (College of Indology) ในที่สุด ทางมหาวิทยาลัยก็ได้อนุมัติให้พระนักศึกษาไทย ย้ายเข้ามาพักอยู่หอแห่งนี้ได้ หอเสนคุปตะลอดจ์แห่งนี้จึงเป็นอีกส่วนหนึ่งของหอพักนานาชาติ International House Complex เพิ่มจากเดิมซึ่งมีอยู่ ๒ หอ  คือหอพักนานาชาติชาย และหอ Annexe เป็นหอพักนานาชาติหญิง
ดร.บุณย์ นิลเกษ อาจารย์คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในคราวที่ท่านเดินทางมานมัสการพุทธสังเวชนียสถาน ได้แวะมาเยี่ยมรุ่นน้องๆ ชาวหอเสนฯ ได้เล่าว่า ในสมัยที่ท่านเป็นพระมหาบุณย์  เป็นอีกผู้หนึ่งในคณะที่ได้รับมอบลูกกุญแจจากทางมหาวิทยาลัย และได้เป็นรุ่นบุกเบิก ที่ได้เข้ามาอยู่หอพักแห่งนี้
นับจาก พ.ศ.๒๕๑๒ ถึงปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๑) เป็นระยะวลา ๔๐ ปีพอดี ตลอดระยะเวลาดังกล่าว  หอเสนคุปตะ ลอดจ์  ได้เป็นที่พำนักของพระนักศึกษาไทย เพื่อศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอด ๔๐ ปี ได้มีพระนักศึกษาไทยจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไปเกือบ ๔๐๐ รูป ที่แห่งนี้ได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของคนไทย ทั้งพระสงฆ์และฆราวาส ที่มาศึกษาหรือนมัสการสังเวชนียสถานในประเทศอินเดียเป็นเวลานาน เสนคุปตะลอดจ์ แม้ไม่ใช่วัด แต่ก็มีบทบาทหน้าที่เหมือนวัดไทยในต่างแดน ถึงแม้หอพักแห่งนี้เป็นสิ่งไม่มีชีวิต แต่ก็เหมือนสิ่งมีชีวิต ได้ทำหน้าที่เป็นคนแจวเรือรับจ้าง ส่งคนข้ามฟากมามากต่อมาก แต่ตนเองก็ยังทำหน้าที่แจวเรือต่อไป....และจะต่อไปอีกยาวนาน
เสนคุปตะ ลอดจ์ กลายมาเป็น สิทธารถวิหาร
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ สมัยที่ท่าน ดร.เอส.เค.ศรามา (S.K.Sharma) เป็นผู้ดูแลหอพักนักศึกษานานาชาติ ได้เปลี่ยนชื่อจาก เสนคุปตะ ลอดจ์ (Sengupta Lodge) มาเป็น สิทธารถวิหาร (Siddharth Vihar) อย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุผลที่ว่า หอพักแห่งนี้เป็นที่จำพรรษาของพระสงฆ์ไทย ได้มาพักอยู่เป็นระยะเวลามากกว่า ๒๐ ปี สิทธารถ(มาจากภาษาสันสกฤต) หรือ สิทธัตถะ (ในภาษาบาลี) เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการเชิดชูพระพุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่งด้วย
          พระนักศึกษาไทยที่มาพักอยู่ที่นี่ล้วนแต่เป็นพระสงฆ์ที่มาจากประเทศไทยล้วนๆ ไม่มีประเทศอื่นเจือปนเลย สิทธิพิเศษที่ทางมหาวิทยาลัยมอบให้ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะเจ้าหน้าที่เค้าจะไม่เข้ามาก้าวก่ายหรือยุ่งเกี่ยวกับหอแห่งนี้มากนัก  นอกจากนั้นเวลาที่มีกิจกรรมเนื่องในโอกาสอันเป็นมงคล ไม่ว่าจะเป็น วันพ่อวันแม่แห่งชาติ ๕ ธันวาคม และ ๑๒ สิงหาคมของทุกปี และในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรม เช่น เทศกาลสงกรานต์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยระดับผู้ใหญ่  ก็จะร่วมกิจกรรมเสมอ จึงถือได้ว่าทางมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษกว่าหอพักอื่นๆ
          นอกจากนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙-๒๕๕๐ ทางมหาวิทยาลัยได้อนุมัติงบประมาณส่วนหนึ่งให้มาสร้างอาคารห้องสวดมนต์ตลอดทั้งเป็นที่ประชุมลงฟังพระปาฏิโมกข์และทำสังฆกรรมต่างๆ ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว ภายในเป็นห้องโถงกว้างพอสมควร และมีห้องน้ำในตัวด้วย เราจะเห็นว่าสิทธิพิเศษต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเพราะอานิสงส์ของรุ่นพี่ๆ ที่เคยมาพัก แล้วได้สร้างคุณงามความดี สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัย  นอกจากนั้น  รุ่นพี่ที่จบการศึกษาไปแล้วก็ล้วนแต่สร้างชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนคนไทยหลายรูป/ท่าน เลยทีเดียว
          สิทธารถวิหาร ยังเป็นที่รู้จักของบรรดาคณะผู้แสวงบุญชาวไทยอีกด้วย  เมื่อเดินทางผ่านมาถึงเมืองพาราณสี ล่องคงคาเสร็จ ก็มักจะคิดถึงพระสงฆ์นักศึกษาไทยที่พักอยู่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย บางคณะที่พอมีเวลาก็จะเข้ามาให้กำลังใจ โดยมีข้าวสารอาหารแห้ง รวมไปถึงจตุปัจจัยไทยธรรมต่างๆ มาร่วมทำบุญด้วย เพื่อเป็นการสนับสนุนพระสงฆ์ ซึ่งเป็นศาสนบุคคลผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ให้มีความเป็นอยู่ที่พอเหมาะพอควรไม่ขาดเขินจนเกินไป พระสงฆ์ที่มาพักหอแห่งนี้ก็จึงมีกำลังใจในการที่จะศึกษาเล่าเรียนให้สำเร็จ แล้วก็กลับไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ประเทศไทยเป็นลำดับไป เหมื่อนรุ่นพี่ๆ ท่านผ่านมาเคยทำเป็นตัวอย่างแล้วนั้น
สิทธารถวิหารในยุคปัจจุบัน
          อีกประการ สิทธารถวิหาร นอกจากจะมีห้องพักแล้ว ยังมีห้องสมุดเล็กๆ ซึ่งมีตำราทางพระพุทธศาสนามากมาย โดยเฉพาะพระไตรปิฎกมีทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ บางครั้งยังเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนแนวความคิดกับบุคคลนอกศาสนาที่มีความสนใจในพระพุทธศาสนาอีกด้วย พระสงฆ์ไทยที่มาพักที่หอพักนี้จึงมีความผูกพันธ์เป็นอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็นรุ่นเก่าๆ ที่จบออกไปแล้วหรือแม้แต่ที่กำลังศึกษาอยู่ในปัจจุบัน ทุกรูป/คน จะไม่เคยลืมบุญคุณของหอพักที่มีนามว่า เสนคุปตะลอดจ์หรือสิทธารถวิหาร อย่างแน่นอน  ถึงบางรูป/ท่านจะจบออกไปหลายปีแล้ว แต่คราที่ได้มาอินเดีย ก็จะแวะเข้ามาเยี่ยมเยือนอยู่เป็นประจำมิได้ขาด โบราณจึงบอกว่า ได้ดีแล้วอย่าลืมพื้นเพหรือภูมิหลังตัวเอง เรามีหน้าที่ ตำแหน่ง ยศฐาบรรดาศักดิ์ หรือมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะเราได้มาพักและศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยแห่งนี้
สิทธารถวิหาร หลังจากวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๓
ที่สำคัญเกิดข่าวดีมีว่า ณ วันนี้สิทธารถวิหารได้ปฏิรูปให้เกิดความสามัคคียิ่งขึ้น พวกเราได้มีความเห็นร่วมกันที่จะยึดอุดมการณ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า น้อมนำเอาพุทธสุภาษิตที่ว่า “สุขา สังฆัสสะ สามัคคี” มาเป็นบรรทัดฐานในการสร้างสรรค์ความรู้รักสามัคคีที่มีไมตรีรวมเป็นหนึ่งเดียว นั่นก็หมายความว่า พวกเราจะไม่แบ่งแยกระหว่างมหามกุฏฯ หรือมหาจุฬาฯ ซึ่งแต่ก่อนได้เป็นม่านประเพณี ที่ยังคงทำให้เกิดความเห็นไม่ตรงกันอยู่บ้างในหลายๆ เรื่องอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบัน ซึ่งเวลานี้เราจะไม่มีสอง แต่กลับกรองกลายมาเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น คิด ทำ พูด ฯลฯ เราจะเป็นแนวทางเดียวกัน เรามีพ่อคนเดียวกัน เป็นคนไทยเหมือนกัน พูดภาษาเดียวกัน ประเพณีวัฒนธรรมอันเดียวกัน ไม่ว่าวันไหนๆ เราก็จะไม่ทิ้งกันพร้อมฝ่าฟันอุปสรรคปัญหานานัปการที่เกิดแล้วและยังมาไม่ถึง โดยการร่วมแรงร่วมใจเพื่อชัยชนะอันหาญกล้า
ดังนั้น พระนักศึกษา-นักศึกษาไทยที่มาศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่นี่ ได้หลอมรวมน้ำใจเข้าเป็นหนึ่งเดียวแล้ว และกล้าที่จะพูดได้เต็มปากว่า “สมาคมพระนักศึกษา-นักศึกษาไทย” มีคำโบราณกล่าวว่า “รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย” ความสามัคคีมีที่ไหนความสงบสุข เจริญรุ่งเรือง ก็มีที่นั่น เสมือนเจ้าลิจฉวีกษัตริย์แห่งกรุงไพศาลี ได้ทำเป็นแบบอย่างตามทางแห่งคำสอนของพระมุนี
ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการที่ได้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ร่วมใจปฏิรูปครั้งใหม่ในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งประกอบด้วย พระมหาสฤษฏ์ คุณธมฺโม, พระมหากิติพันธ์ สุภทฺโท, พระมหาประภาส ปริชาโน, พระมหานิเวช ชินวโร, พระมหาสุทธิชัย มนฺตชโย, พระธรรมรัตน์ เขมธโร, พระมหาวีระพงษ์ ปวุฑฺฒิธโร, พระมหาวิกรเมศวร์ เตชปญฺโญ, พระมหา ดร.สากล สุภรเมธี, พระครูถาวรโพธาภิรักษ์..ฯลฯ พวกเรามาอยู่ที่นี่ในนามของ “พระสงฆ์ไทย” พร้อมที่จะปกป้องรักษาพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งเยียวยาสิ่งดีงามที่ขาดหายจากจิตใต้สำนึกของชาวพุทธทั่วโลก และสืบต่ออุดมการณ์แห่งพระชิโนรส ผู้ปรากฏเกียรติคุณต่อโลกทั้งสามอย่างงดงาม ตามพุทธธรรมที่ทรงประกาศไว้ดีแล้วนั้น
            นี่แหละ คือศิษย์ของมหาวิทยาลัยบาณารัส ฮินดู (B.H.U.) เมืองพาราณสี  พวกเราก็ต้องช่วยกันรักษความดีที่รุ่นพี่ได้อุตส่าห์สร้างเอาไว้นะครับ เพื่อว่ารุ่นต่อๆ ไปจะได้เข้ามาพักอาศัยศึกษาเล่าเรียนเหมือนพวกเรา และสำเร็จออกไปธำรงพระพุทธศาสนาอย่างสมศักดิ์ศรีและภาคภูมิใจในความเป็นพุทธบุตรของพระศรีศากยมุนี ผู้ได้รับสมัญญานามว่า “พระศาสดาเอกของโลก” ตลอดกาลนาน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น