ยินดีต้อนรับสู่อาณาจักรแห่งความรู้คู่ความสำเร็จ

หากท่านสนใจพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ และเรื่องอื่นๆ สามารถเข้ามาเยี่ยมเยือนได้ตลอดเวลา นมัสเต....

วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พระเจ้ากนิษกะมหาราชกับพระพุทธศาสนา

        ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงกษัตริย์หลายพระองค์ที่ทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนา  โดยทั่วไปแล้วสำหรับชาวพุทธทั่วโลกจะรู้จักพระราชาไม่กี่พระองค์ที่ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและศรัทธาอย่างแรงกล้า ที่โดดเด่นมากที่สุดเห็นจะเป็นพระเจ้าอโศกมหาราชนั่นเอง  ในปีนี้ข้าพเจ้าจึงอยากเชิญชวนท่านผู้อ่านได้มารู้จักกับพระราชาอีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งได้รับสมัญญานามว่า อโศกมหาราช ๒
จากจารึกต่างๆที่นักโบราณคดีได้ขุดค้นพบในเขตประเทศอินเดียและปากีสถาน จะพบว่ามีพระนามของพระเจ้ากนิษกมหาราชเยอะมาก ไม่น้อยไปกว่าพระเจ้าอโศกมหาราชเลยทีเดียว แม้กระทั่งเหรียญกษาปณ์ ทั้งที่เป็นโลหะ ทอง ทองแดง และดินเผา จากหลักฐานต่างๆเหล่านี้เอง ที่ทำให้อนุชนคนรุ่นหลังอย่างพวกเราได้เห็นถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในครั้งอดีตที่ผ่านมาอย่างไม่มีข้อกังขา ข้าพเจ้าจึงขอหยิบยกเอาพระราชประวัติโดยสังเขปมานำเสนอ พอให้ท่านผู้อ่านได้เกิดมโนภาพ และจะทำให้เราได้ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ดังต่อไปนี้
พระเจ้ากนิษกะ หรือ พระเจ้ากนิษกมหาราช (Kanishka, ภาษากุษาณะ) เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งอาณาจักรกุษาณะในเอเชียใต้ ในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๒ ทรงมีชื่อเสียงจากความสำเร็จด้านการทหาร การปกครอง และฐานะผู้นำที่ยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ยังทรงเป็นผู้กำหนดมหาศักราชขึ้นด้วย ที่สำคัญคือ ทรงเป็นองค์อัครราชูปถัมภ์ที่ยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งเปรียบได้กับพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ทรงเป็นองค์อัครราชูปถัมภ์ของนิกายหินยาน ราชธานีของพระองค์คือเมืองเปศวร ในประเทศปากีสถานปัจจุบัน
พระเจ้ากนิษกะเป็นนัดดาของพระเจ้ากัทพิเสส ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรกุษาณะ ได้ครองราชย์ในปี พ.ศ.๖๒๑ พระองค์มีความเลื่อมใสในพุทธศาสนามาก จนได้รับขนานนามว่า "พระเจ้าอโศกองค์ที่ ๒" และทรงแผ่อาณาจักรกว้างไกลครอบคลุม แคว้นคันธาระ แคชเมียร์ สินธุ และมัธยมประเทศ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอิหร่าน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน เติร์กเมนิสถาน และบางส่วนของอินเดีย)
ในสมัยนี้พุทธศาสนามหายานแผ่ไปสู่เอเชียกลางและจีนอย่างรวดเร็ว วรรณคดีภาษาสันสกฤตได้เจริญรุ่งเรืองแทนภาษาบาลี พระภิกษุที่มีความรู้ในยุคนี้คือ ท่านปารศวะ ท่านอัศวโฆษ ท่านวสุมิตร เป็นต้น
ในด้านการแกะสลักพุทธศิลป์สมัยคันธาระ ซึ่งเริ่มต้นในสมัยพระเจ้ามิลินท์ ก็มีความเจริญอย่างสุดขีดในสมัยพระองค์  ทรงสร้างวัดวาอาราม เจดีย์วิหารอย่างมากมาย พระสมณะเฮี่ยนจัง หรือ พระถังซำจั๋ง พระสงฆ์ชาวจีนผู้จาริกสู่อินเดียเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๑๐๐ เศษ ท่านบันทึกไว้ว่า เมื่อจาริกถึงเมืองปุรุษปุระ เมืองหลวงของพระองค์ 
จึงกล่าวต่อไปว่าพระเจ้ากนิษกะ ทรงสร้างวิหารหลังหนึ่ง ทรงให้นามว่า "กนิษกะมหาวิหาร" แม้ว่าพระวิหารจะทรุดโทรมลงแล้ว แต่ในพระวิหารมีศิลปะที่งดงามยากที่จะหาที่ใดเสมอเหมือนได้ และยังมีพระภิกษุอาศัยอยู่บ้าง ทั้งหมดเป็นพระนิกาย หินยาน หรือ เถรวาท
พระเจ้ากนิษกะครองราชย์อยู่ระหว่างปี พ.ศ. ๖๒๑ - พ.ศ. ๖๔๔ รวมระยะเวลา ๒๓ ปี ถึงกาลเวลาจะผ่านมานาน คุณงามความดีของพระองค์ผู้ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ยังคงปรากฏให้เราได้ศึกษา และน้อมนำปณิธานของพระองค์ท่านมาเป็นแบบอย่างในการประกอบคุณความดีต่อไป ข้าพเจ้าจึงขอประพันธ์ฝากเอาไว้ว่า :-

เราทำดี          ครั้งใด          ให้ปรากฏ
จะมียศ          และศักดิ์        ประจักษ์ศรี
หากทำชั่ว       ปรากฏมาก     กว่าความดี
คงไม่มี          ใครถาม         ถึงนามเอยฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น