ยินดีต้อนรับสู่อาณาจักรแห่งความรู้คู่ความสำเร็จ

หากท่านสนใจพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ และเรื่องอื่นๆ สามารถเข้ามาเยี่ยมเยือนได้ตลอดเวลา นมัสเต....

วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ธงพระพุทธศาสนาสากล

             “สิทธารถสาร” เป็นวารสารที่สร้างความกล้าหาญและความเชื่อมั่นในศักยภาพ การเป็นนักเขียนของพระนักศึกษาและนักศึกษาไทยมหาวิทยาลัยเมืองพาราณสี ผู้ใดใคร่ประสงค์อยากนำเสนอเรื่องดีๆ ที่ประสบมา ทั้งโดยการศึกษาจากตำราหรือค้นคว้าจากประสบการณ์ชีวิตจริง แล้วต้องการมาเล่าสู่กันฟังก็สามารถที่จะนำมาตีพิมพ์ลงในวารสารเล่มนี้ได้ เพราะถือได้ว่าเป็นเวทีที่จะประกาศความรู้สู่มหาชนบนรากฐานของความจริงใจในญาติธรรมทั้งหลาย ที่ได้มีโอกาสเดินทางมาเยี่ยมญาติทางธรรมของเรา ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นญาติผู้ใหญ่ พระอรหันต์ขีณาสพเป็นญาติลำดับต่อมา เรียกได้ว่าชาวพุทธต้องมีโอกาสได้มาอินเดียสักครั้งในชีวิต จิตเรามีความกตัญญูจึงต่อสู้ปัญหาอุปสรรคได้ เมื่อมาถึงเสมือนหนึ่งได้เข้าใกล้ธงชัยพระอรหันต์เลยทีเดียว
เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้ข้าพเจ้าเองก็อยากจะพูดถึงเรื่องของธงด้วย เพราะธงถือว่ามีความสำคัญมาก ธงเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกได้หลายอย่าง เช่น บ่งบอกความเป็นญาติพี่น้องพวกพ้อง,กลุ่มกอง,แผ่นดินเดียวกัน ในทางศาสนาก็ปรากฏว่ามีการนำธงมาใช้เป็นสัญลักษณ์ด้วยเช่นกัน ธงจะมีสีและสัญลักษณ์แตกต่างกันออกไปตามคติความเชื่อของชาตินั้นๆ เพื่อให้คนในชาติมีความรักและกตัญญูพร้อมปกป้องผืนแผ่นดินของตนจนลมหายใจเฮือกสุดท้าย และธงนี้เองก็เป็นสัญลักษณ์ของแต่ละชาติ พอมองเห็นธงก็บอกได้เลยว่าเป็นประเทศไหน จะสังเกตเห็นได้เด่นชัดก็คือเมื่อมีการแข่งขันกีฬาต่างๆ นักกีฬาแต่ละชาติจะต้องมีธงเป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่าเป็นนักกีฬาของประเทศใด ยิ่งเมื่อได้รับชัยชนะจะเอาธงชาติกางออก แล้ววิ่งโบกสะบัดปรากฏชัดว่า “ประเทศข้าพเจ้าก็แน่เหมือนกันนะคุณผู้ชม!!!! แม้พวกนักรบโบราณก็ใช้ธงนี้แหละปลุกระดมข่มศัตรู เพื่อนำชัยมาสู่ตน แม้บางครั้งสงครามเกิดมาจากการเหยียดหยามอย่างสุดทน ก็คือการเอาธงชาติมาเหยียบย่ำหรือเผาปู้ยี้ปู้ยำ ถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติพร้อมเหยียดหยามคนทั้งชาติอะไรทำนองนั้นแหละ สุดท้ายก็เกิดบันดาลโทสะได้ง่ายๆ ธงจึงถือว่าเป็นตัวแทนของประเทศชาติบ้านเมือง ดังได้ยกตัวอย่างมาพอสังเขป
ในทางพระพุทธศาสนาเราเองก็มีการใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ เช่น ชาวพุทธฝ่ายมหายานจะจารึกคำสอนลงในแผ่นธง แล้วก็เอาไปแขวนไว้ที่สูงๆ เป็นสายโยงยาว เพื่อให้ลมพัดสะบัดโบกนำธรรมะไปสู่ประชาชน ประเทศไทยจะใช้ตราธรรมจักรไว้ตรงกลาง พื้นหลังเป็นสีเหลือง อันเป็นสีแทนผ้ากาสาวพัสตร์ บ่งบอกถึงความสงบสุขและความสันติ ชาวพุทธแต่ละชาติก็จะออกแบบธงพระพุทธศาสนาต่างกันออกไปเหมือนกัน ตามคติความเชื่อและความนิยมในยุคนั้นๆ ด้วยความแตกต่างกันตรงนี้เอง จึงทำให้กลุ่มชาวพุทธไม่มีกำหนดตายตัว ต่างชาติก็ต่างทำออกมา ไม่มีความเป็นเอกภาพ ซึ่งไม่เหมือนธงของศาสนาอื่นๆ เช่น อิสลาม คริสต์ ซิกซ์ เชน ฮินดู....ฯลฯ ซึ่งบรรดาศาสนิกชนของศาสนาต่างๆ ที่กล่าวมาไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหน ธงสัญลักษณ์ของเขาก็แบบเดียวกันทั้งหมด จึงรู้และเข้าสู่กลุ่มศาสนิกด้วยกันได้ง่ายดาย แต่สำหรับธงพระพุทธศาสนาของชาวพุทธเรายังไม่มีรูปแบบตายตัว ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างอออกแบบ สับสนปนเปกันไปไม่รู้จบสิ้น
จึงได้เกิดกลุ่มชาวพุทธที่ความกังวลและห่วงใยในเรื่องนี้ ได้ร่วมมือกันก่อตั้งพุทธสมาคมขึ้นและได้ออกแบบและทำสัญลักษณ์ของธงพุทธศาสนาสากลออกมา อย่างที่เราเห็นในประเทศที่มีชาวพุทธอาศัยอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน เช่น อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล และทางโซนยุโรป แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าทางประเทศไทยเรายังไม่มีวัดไหนหรือชาวพุทธคนใดนำธงนี้ไปใช้เลย ชาวพุทธไทยหลายคนพอเดินทางมาอินเดียมองเห็นธงพุทธศาสนายังพากันงงและสับสนเลยว่า เป็นธงอะไรกันแน่ แหม!..ก็ไหนบอกว่าคนไทยทันสมัยล่ะเนี่ย เรื่องแค่นี้ยังไม่รู้อีก ประเทศอื่นๆ เขารู้จักและเอาไปใช้ตั้งนานแล้วล่ะคุณโยม เฮ่ย!!!อนิจจา....มัวทำอะไรกันอยู่ที่ไหน!!!!!!   
[หารูปธงใส่ด้วยคร้าบบบ]
เอ้า!!ถ้ายังไม่ทราบก็มาดูกันเลยดีกว่า ธงนี้มีชื่อว่า ธงฉัพพัณณรังสี  ประกาศและใช้ครั้งแรกเมื่อวันวิสาขบูชา ประจำปี ๑๘๘๕ ที่วัดทีปทุตตะรามายา เขตโกตาเฮนา เมืองโครัมโบ ประเทศศรีลังกา โดยท่าน เขตตุวัตเต คุณนันทะ นายกเถระเป็นผู้ประดับธงนี้ คำว่า ฉัพพัณณรังสี แปลว่ารัศมี ๖ สี ซึ่งเป็นรัศมีที่แผ่ซ่านรอบพระวรกายของพระศาสดา ในตอนที่พระองค์ตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ คือ
            ๑.นีละ (สีเขียวเหมือนดอกอัญชัน) ความหมาย พระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันแผ่ไปทั่วสากลจักรวาล
            ๒.ปีตะ (สีเหลืองเหมือนหรดาลทอง) ความหมาย มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง คือเลี่ยงจากความสุดโต่งทั้งสองประการ
            ๓.โลหิตะ (สีแดงเหมือนแสงตะวันอ่อน) ความหมาย การอวยพรให้ประสบความสำเร็จ สมบูรณ์พร้อมด้วยสติปัญญา คุณงามความดี ความเป็นผู้มีโชค  และเกียรติยศทั้งปวง
            ๔.โอทาตะ (สีขาวเงินยวง) ความหมาย ความบริสุทธิ์แห่งพระธรรม ซึ่งเป็นของที่ไม่จำกัดกาล (อกาลิโก) และนำชนไปสู่ความหลุดพ้น
            ๕.มัญเชฏฐะ (สีแสดเหมือนหงอนไก่) ความหมาย พระปัญญาคุณแห่งพระศาสดา
            ๖.ปภัสสร (สีเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก:สีทั้งห้ารวมกัน) ความหมาย ความจริงทั้งหมดในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ธงพุทธศาสนาสากลนี้ (International Buddhism’s Flag) ได้รับการออกแบบโดยพุทธสมาคมกรุงโคลัมโบ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ใช้ครั้งแรกเมื่อวันวิสาขบูชา ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๒๘ ประเทศศรีลังกา ต่อมาองค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (World Fellowship of Buddhists : WFB) ได้ประกาศใช้ธงนี้เป็นธงพุทธศาสนาสากลเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ณ ที่ประชุมกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา โดยการนำของท่านศาสตราจารย์ จี.พี.มาลาเสเขร่า ผู้ก่อตั้งและประธานองค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
            เป็นอย่างไรกันบ้างล่ะ! ทีนี้เราได้ทราบความหมายและความสำคัญของธงพระพุทธศาสนาแล้วก็อย่าได้พากันสับสนหรือต้องคอยให้พระตอบคำถามเรื่องธงนี้บ่อยนัก ชาวพุทธไทยก็ต้องทันสมัยและอัพเกรดความรู้บ่อยๆ อย่าให้ชาติอื่นมากล่าวตำหนิชาวพุทธไทยเราได้ว่าล้าหลัง แล้วขอแนะนำอีกนิดว่าเมื่อมีธงพุทธศาสนาประจำแล้ว อย่ายึดติดที่ธงอย่างเดียว ให้เรายึดเอาพระธรรมคำสอนที่แฝงความหมายอยู่ในธงชาติดีกว่า เพราะธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในทางที่ชั่ว ถึงคุณจะมีธงพุทธศาสนาอยู่ในกำมือ ก็ไม่ถือว่าคุณเป็นชาวพุทธจริงๆหรอกนะ เหมือนพระพุทธเจ้าทรงตรัสกับพระวักกลิในครั้งพุทธกาลว่า “....ดูกร วักกลิ แม้เธอจะเกาะชายจีวรของพระตถาคตอยู่ ก็ไม่ชื่อว่าเห็นเรา ส่วนผู้ใดแม้ไม่ได้เกาะชายจีวร แต่ประพฤติปฏิบัติธรรม จะได้ชื่อว่าเห็นเราตถาคต...” ท้ายนี้ ขอธงชัยพระอรหันต์จงเสถียรมั่นในกลางใจคนไทยทุกดวงเทอญ..ขอเจริญพร!
(เขียนลงสิทธารถสาร ประจำปี ๒๕๕๓)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น